คุณจะตกใจไหม ? ถ้าเราจะบอกคุณว่า คุณไม่จำเป็นต้องทนดูดฝุ่นเองให้ปวดหลังอีกต่อไปแล้ว เพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถผลิตหุ่นยนต์ที่สามารถทำหน้าที่ดูดฝุ่นแทนคุณได้ตลอดทั้งวัน
จริง ๆ แล้วเราเชื่อว่าคุณเองก็คงจะไม่ตกใจหรอก เพราะดูเหมือนโลกในทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีที่รองรับความขี้เกียจของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน เรียกว่าพร้อมอำนวยความสะดวกสบายสูงสุดให้แก่ผู้ใช้งาน ตราบเท่าใครคนนั้นมีปัญญาจ่ายเงินให้กับเทคโนโลยีเหล่านี้
ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น คุณจะตกใจไหม ? ถ้าเราจะบอกคุณว่า ความขี้เกียจของคนทั้งโลกถูกซื้อไปหมดแล้ว ?
‘ความขี้เกียจ’ คือจุดเริ่มต้น
แล้วไอ้เจ้าความขี้เกียจเนี่ย มันเริ่มต้นมาจากไหนกันล่ะ ?
เดิมทีมนุษย์เป็นสัตว์ที่จัดว่าขี้เกียจ เนื่องจากในยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้มีอาหารให้กินครบ 3 มื้อในทุก ๆ วัน และการออกล่าหาอาหารถือเป็นเรื่องที่โคตรจะเหนื่อย แม้มนุษย์ยุคก่อนจะแข็งแรงกว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันมากเพียงใด แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะวิ่งตามเสือทันตลอดทุกครั้งที่ออกล่าหรอกนะ
ดังนั้นมนุษย์จึงมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง ก็คือการรู้จักที่จะขี้เกียจเพื่อประหยัดพลังงานเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น การหลบหนีภัยพิบัติหรือสัตว์ร้าย การถูกรุกราน การย้ายถิ่นฐาน หรือการอพยพ เพราะว่าแหล่งพลังงานหลักอย่างอาหารไม่ได้หากันง่าย ๆ นั่นเอง
พฤติกรรมดังกล่าวก็เลยเป็นต้นเหตุของความขี้เกียจที่ส่งต่อผ่านพันธุกรรมกันมาจนถึงปัจจุบัน ถึงเดี๋ยวนี้มนุษย์เราจะไม่ได้ออกล่าอาหารด้วยตัวเองเหมือนในยุคดึกดำบรรพ์แล้ว แต่ยอมรับเถอะว่าการเดินออกไปซื้ออาหารที่ปากซอยหน้าบ้าน สำหรับหลาย ๆ คนแล้วก็ถือว่าไกลอยู่ดี และนั่นทำให้มนุษย์พยายามแสวงหาวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้พวกเขาออกแรงน้อยๆ แต่ว่าได้ผลลัพธ์อย่างที่ตัวเองต้องการโดยที่ไม่ต้องเหนื่อย หรือถ้าจะเหนื่อยก็ขอให้เหนื่อยน้อยที่สุด
ปัจจุบันโลกใบนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกลอย่างมาก นับตั้งแต่การปฏิวัติอุสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่เริ่มมีการนำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมเมื่อปี 1969 เพื่อทำให้เกิดกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติที่สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว จากตอนนั้นมาจนถึงตอนนี้ ไม่มีบริษัทผู้ผลิตใดที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ และการใช้คอมพิวเตอร์ในกระบวนการผลิตกลายเป็นเรื่องพื้นฐานของทุกบริษัท
จากคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในปี 1946 หลังจากนั้นมนุษย์ได้ต่อยอดเทคโนโลยีมาเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต และอาศัยความขี้เกียจของมนุษย์มาเป็นช่องทางทำธุรกิจเพื่อสร้างกำไรอย่างมหาศาล และหากดูจากความมั่งคั่งของบรรดานายทุนที่สร้างสินค้าและบริการต่าง ๆ มาตอบสนองความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตของคนเรา นี่ก็คือหลักฐานว่าความขี้เกียจของคนทั้งโลกได้ถูกพวกเขาซื้อเอาไว้หมดแล้ว
เมื่อความขี้เกียจกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ
“เป็นคนขี้เกียจครับ ยิ่งตอนนี้มีบริการที่ตอบสนองต่อความขี้เกียจ ผมก็ไม่ต้องทำอะไร แค่จ่ายเงินออกไปก็ได้สิ่งที่ต้องการแล้ว เช่น การซักผ้า ก็แค่เอาผ้าไปให้ร้าน บอกเขาว่าฝากซักแล้วจ่ายเงินให้ แค่นี้ผมก็จะได้ผ้าที่ซักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในเมื่อมีวิธีการแบบนี้ แล้วทำไมผมจะไม่จ่ายเงินเพื่อแลกความสะดวกสบายเหล่านี้มาล่ะครับ” คำตอบจาก ภคพล ทองชุม นักศึกษาหนุ่มที่กล่าวถึงการพยายมองหาความสะดวกสบายจากสินค้าหรือบริการต่าง ๆ น่าจะทำให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นว่าความขี้เกียจของคนกลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจได้อย่างไร
หลายคนอาจมองว่าความขี้เกียจไม่ใช่พฤติกรรมที่ดี แต่บางครั้งความขี้เกียจเองก็มีข้อดีเหมือนกัน ครั้งหนึ่งนักธุรกิจอย่าง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับโลกเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ผมมักเลือกคนที่ขี้เกียจมาทำงานที่ยาก เพราะว่าพวกคนขี้เกียจจะหาทางที่ง่ายที่สุดเพื่อทำงานให้สำเร็จ (I choose a lazy person to do a hard job. Because a lazy person will find an easy way to do it)” เพราะการก้มหน้าตรากตรำทางานอย่างคนขยัน อาจจะไม่ใช่วิธีที่จะทาให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้เสมอไป
และก็เพราะความขี้เกียจของคนเรานี่เอง ที่ทำให้เกิดธุรกิจหลากหลายประเภทขึ้นมารองรับความไม่อยากต้องออกแรงให้เหนื่อยของมนุษย์ โดยธุรกิจเหล่านี้อาศัยสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันเพื่อทำให้ธุรกิจไปรอดและมั่งคั่ง นั่นคือ ‘ความขี้เกียจ’ โดยธุรกิจเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า ‘Lazy Economy’ หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือการหากินกับความขี้เกียจของคนเรานั่นเอง
สถิติหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก กว่า 34% เป็นการทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนคนขี้เกียจ ซึ่งในมุมของนักการตลาดและนักธุรกิจ แม้ว่าลูกค้าจะขี้เกียจแค่ไหนก็ตาม แต่หากขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้าแล้ว ก็มีหน้าที่มอบสินค้าและบริการให้ถึงที่สุด เพื่อเพิ่มยอดขายและ Customer Loyalty
สำหรับกลยุทธ์ที่ใช้ในการทำธุรกิจ Lazy Economy คือสิ่งที่เรียกว่า SLOTH Strategy ซึ่งประกอบด้วย
Speed รวดเร็ว : ทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว เพราะมนุษย์ยุคปัจจุบันไม่ชอบรอสินค้าเป็นเวลานาน
Lean กระชับ : ตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากให้กระชับขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน
enjOy สนุก : การทาให้ผู้บริโภคสนุกจะเกิดแรงจูงใจในการซื้อหรือใช้บริการ
convenienT สะดวก : ต้องมีความสะดวก
Happy มีความสุข : ต้องสามารถเติมเต็มปัญหาของลูกค้าได้ จึงจะสามารถทำให้ลูกค้ามีความสุข
สารพัดธุรกิจเพื่อคนขี้เกียจ
ปัจจุบันธุรกิจในกลุ่ม Lazy Economy ที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ประกอบด้วย 5 ธุรกิจ ได้แก่
‘On Demand Service’ เป็นธุรกิจที่สามารถทำแทนคุณได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน จองคิว จองตั๋วคอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งเลือกซื้อของใช้เข้าบ้าน และที่น่าตกใจที่สุด การเล่นเกมที่เหมือนจะเป็นกิจกรรมคลายเครียด แต่กลับมีการรับจ้างเล่นเกมแทนด้วยเช่นกัน ไม่น่าเชื่อเลยว่าโลกเราจะมาไกลถึงขั้นที่แม้แต่กิจกรรมคลายเครียดเล็ก ๆ ในหนึ่งวันของคุณ ก็สามารถจ้างคนมาทำแทนได้แล้ว
‘Hand Free’ ธุรกิจที่จะช่วยให้คุณสามารถละมือให้ว่างมากพอจะไปทำอย่างอื่นที่อยากทำได้ เช่น การพักผ่อน โดยธุรกิจประเภทนี้จะเป็นสินค้าประเภท Automation นั่นเอง เช่น หากคุณขี้เกียจที่จะล้างจาน ธุรกิจเหล่านี้ก็จะมอบเครื่องล้างจานให้กับคุณ เพียงแค่คุณใส่จานเข้าไปในเครื่องรอมันทำงาน เท่านี้คุณก็จะได้จานสะอาดพร้อมนำมาใช้งาน หรือจะเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่คุณสามารถตั้งค่าให้มันดูดฝุ่นได้ในช่วงที่คุณออกไปทำงานข้างนอก และคุณก็จะกลับบ้านมาพักผ่อนได้โดยไม่ต้องเสียเวลาทำความสะอาด
‘Ready To’ ส่วนมากในธุรกิจประเภทนี้จะเป็นอาหารพร้อมรับประทาน ช่วยให้คุณไม่ต้องเสียเวลาทำอาหารกินเอง เพราะอาหารเหล่านี้ถูกทำสำเร็จรูปให้พร้อมรับประทานทุกเมื่อที่คุณต้องการ รวมถึงเครื่องดื่มด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นที่นิยมในกลุ่มคนขี้เกียจแล้ว ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนที่ทำอาหารไม่เป็นอีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มาแรงในกลุ่ม Lazy Economy
‘การร่วมมือร่วมใจ’ ธุรกิจประเภทนี้จะเป็นการสร้าง Community เพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจ เช่น มีกลุ่ม Community ชื่อว่า ‘ปีนี้เราจะหุ่นดีไปด้วยกัน’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมิอย่างมาก มีที่มาจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ต้องการจะมีหุ่นที่ดี โดยคนใน Community ก็จะช่วยกันสร้างแรงจูงใจให้กันและกันเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ
‘ธุรกิจที่เน้นการฟัง’ ถ้าหากการอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อเกินไปสำหรับคุณ ตอนนี้มีคนมาอ่านหรือเล่าเรื่องที่น่าสนใจให้คุณฟังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่าน Podcast หรือว่า VDO Content สั้น ๆ เพื่อให้คุณไม่ต้องเสียเวลาอ่านมันด้วยตัวเองอีกแล้ว เพียงแค่เปิดพอดแคสต์เหล่านี้ฟัง แถมในระหว่างที่ฟังคุณยังสามารถทำอย่างอื่นไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย
และจากธุรกิจต่าง ๆ ที่กล่าวมา ก็คงต้องบอกว่า แทบจะครอบคลุมชีวิตประจำวันทั้งหมดของคนเราไปแล้วจริง ๆ
เพราะ ‘ขี้เกียจ’ โลกถึงพัฒนา
ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Lazy Economy มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิต โดยในปี 2018 เว็บไซต์ Taobao (เถาเป่า) ธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในจีนได้เก็บข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคเอาไว้ว่า ผู้คนที่เกิดหลังปี 1995 มีการใช้จ่ายไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากถึง 70% มูลค่ามากกว่า 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพร้อมรับประทาน อุปกรณ์ดิจิทัล หรือเครื่องสำอาง
ความขี้เกียจและต้องการความสบายที่เพิ่มมากขึ้นของคนเรา ส่งผลให้สินค้าที่ตอบโจทย์ดังกล่าวเป็นที่ต้องการในท้องตลาดเป็นอย่างมาก และส่งผลให้กลุ่มสตาร์ทอัพในจีนเน้นทำการตลาดกับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ มีแม้กระทั่งการคิดค้นโดรนส่งกาแฟ เมื่อมันตรวจจับได้ว่าคุณกำลังเหนื่อยล้า เรียกได้ว่าธุรกิจนี้ รวมไปถึงและเทคโนโลยีกาลังเติบโตไปไกลอย่างน่ากลัว
Lazy Economy ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่เราพบเห็นกันจนชินตาไปแล้วนั่นเอง หากในอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า จะมีเครื่องที่สามารถอาบน้ำแต่งตัวให้คุณได้ ก็คงจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราตกใจอะไร เพราะเทคโนโลยีจะวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์
เหมือนกับที่เราได้บอกคุณไปเมื่อตอนต้นว่า ความขี้เกียจก็มีข้อดี เพราะด้วยความขี้เกียจนี่ล่ะ ที่ทำให้เทคโนโลยี ธุรกิจ สังคม และโลก มีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้
และเมื่อเรากวาดตามองสารพัดสินค้าที่เราสั่งซื้อ หรือบรรดาบริการต่าง ๆ ที่เราเข้าแอปพลิเคชั่นไปใช้งาน ทั้งหมดนี้ช่วยยืนยันอีกครั้งว่า “ความขี้เกียจของคนทั้งโลกถูกซื้อไปหมดแล้ว”
.
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : ธัญญาภรณ์ โสภาฮุย, นิตยา อุปปิง, พิชญาภา สุปัญญา
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“เหมือนโลกเรามียักษ์ใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ทุกคนกลัว แล้วอยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งไปกรีดข้อเท้ายักษ์ ทำให้ทุกคนเห็นว่ายักษ์ก็เลือกออกได้ ถ้ายักษ์เลือดออกได้ ก็หมายความว่ายักษ์ก็ล้มได้นั่นเอง นี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นการเยือนไต้หวันของเพโลซีมันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่มันยิ่งใหญ่กับโลกด้วย”
การออก ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565’ ที่กำหนดให้ทุกส่วนของ ‘กัญชา’ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) จำนวนไม่เกิน 0.2% ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2564 แล้ว ยังถือเป็นการ ‘ปลดล็อค’ ที่ส่งผลให้การใช้กัญชาในประเทศไทยสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด
เมื่อเราซื้อผลิตภัณฑ์ใดก็ตามมาใช้ ใช้ไปแล้วก็ย่อมมีวันหมด สุดท้ายขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในตอนแรกก็จะกลายเป็นขยะไร้ค่าและต้องทิ้งหรือกำจัดไป