ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำหนดให้ ‘โรคเอดส์’ เป็นวาระแห่งชาติ และมีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พศ. 2573 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นอีกในปีดังกล่าว
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์รวมข้อมูลสาระสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทย ระบุว่าจากการคาดประมาณในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 6,500 คน/ปี หรือเฉลี่ย 18 คน/วัน ผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ ประมาณ 9,300 ราย/ปี หรือเฉลี่ย 26 ราย/วัน และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 520,000 คน
นับตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคเอดส์รายแรกในปี พ.ศ. 2527 เป็นเวลากว่า 38 ปีแล้วที่ประเทศไทยต้องต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าผู้คนในสังคมจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘โรคเอดส์’ และ ‘เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)’ ว่ามีความแตกต่างกัน รวมถึงมีความรู้ช่องเกี่ยวกับการติดต่อของโรคและการป้องกันตนไม่ให้ติดเชื้อ จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื่อและผู้ป่วยลดลง เพียงแต่เมื่อเทียบกับเป้าหมาย การรณรงค์ป้องกัน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเชิงรุก โรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เช่นเดียวกับช่องว่างของการสื่อสารและเข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยงที่ยังคงสูงอยู่
แม้ว่ามีข้อมูลล่าสุดที่ระบุว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาเช่นนั้นได้ ดังนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่ การป้องกันตนไม่ให้ติดเชื้อย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรักษาตัวเมื่อติดเชื้อหรือเป็นโรค และนวัตกรรมที่ช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ ยา PrEP และยา PEP
PrEp และ PEP คืออะไร?
เพร็พ (PrEP : Pre Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ โดยเริ่มใช้ตรียมไว้ก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อ และใช้ต่อเนื่องไปจนหมดโอกาสนั้น
ส่วน เพ็พ (PEP : Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ ที่เพิ่งสัมผัสเชื้อมาในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งยาทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน อีกทั้งก่อนรับยา ผู้รับยาจะต้องมีการตรวจผลเลือดก่อนทุกครั้ง
ปัจจุบันมี 97 ประเทศทั่วโลกที่การประกาศให้ยา PrEP และ PEP เป็นยาพื้นฐานเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเอดส์ และในหลายประเทศมีผู้ใช้ยาเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ในปนระเทศไทย เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่มีการใช้ยา PrEP โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ปรับปรุงการให้บริการยา PrEP ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 และมีหน่วยบริการของทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ 154 แห่ง จาก 56 จังหวัด
จากข้อมูลดังกล่าาว จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยมีการให้บริการยา PrEP และ PEP ฟรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยให้บริการยา PrEP และ PEP จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้รับบริการยา PrEP กลับไม่เพิ่มตาม โดยผลสำรวจล่าสุดของ PrEPwatch พบว่าตัวเลขจำนวนผู้ใช้สะสมอยู่ที่ 51,072 คน ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงและอัตราการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อรายใหม่ และกลายเป็นคำถามว่า ทำไม PrEP และ PEP ถึงไม่เป็นที่นิยมคนผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
ทำไม PrEP และ PEP ถึงไม่ Pop
นักศึกษาหนุ่มอายุ 20 ปี ผู้เคยใช้บริการคลินิกนิรนาม หน่วยให้บริการยา PrEP และ PEP ของสภากาชาดไทย เปิดว่าจากประสบการณ์ของตนเอง การให้บริการขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการยา PrEP และ PEP นั้นดีมาก เป็นความลับและรวดเร็วพอสมควร เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องของพื้นที่ให้บริการที่หาเจอได้ยากและอยู่ไกล
“ตอนที่ตัดสินใจจะไปรับยา PEP เราหาที่รับยาได้ยากมาก ขนาดเราอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เหมือนไม่รู้แหล่ง เพื่อนที่แนะนำก็อยู่คนละที่ เราเสิร์ชหาจากในอินเทอร์เน็ตเยอะมาก คือมีเยอะนะแต่มันไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จะไปกระจุกอยู่เป็นที่มากกว่า บางทีก็เดินทางยาก สำหรับเรารับยา PEP ที่คลินิกนิรนาม ซึ่งเขาก็ให้บริการค่อนข้างดี เป็นความลับ มีการตรวจเลือดและให้คำปรึกษาต่างๆ”
จากรณีตัวอย่างข้างต้น คุณฐาปนา ปาสันทราย เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้าน HIV มูลนิธิเอ็มพลัส (MPLUS) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการยา PrEP และ PEP เห็นด้วยว่าสถานให้บริการยา PrEP และ PEP ในประเทศไทยยังมีไม่ทั่วถึง แม้ดูเหมือนจะมีจำนวนมาก แต่ว่ากลับไปกระจุกตัวอยู่ตามในตัวเมือง ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือชนบทไม่สามารถเข้าถึงยาได้หรือเข้าถึงได้ยาก
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ PrEP และ PEP ไม่เป็นที่นิยม คือ พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องทางเพศของสังคมไทย รวมถึงการปลูกฝังและค่านิยมในเรื่องเพศที่ผิด
“บริบทเรื่องพื้นที่มีผลต่อความนิยมของ PrEP และ PEP เพราะสถานให้บริการยังมีไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ก็ไม่ทั่วถึง ทำให้คนเข้าไม่ถึงและไม่รู้แหล่งให้บริการ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ PrEP และ PEP ไม่เป็นที่นิยม เป็นเพราะความเข้าใจเรื่องทางเพศในสังคมไทยยังน้อย สังคมไทยมักทำให้การพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ปกติ ทำให้คนไม่กล้าพูดเรื่องทางเพศ ไม่อยากเข้ามาปรึกษา เมื่อไม่มาหาเรา การที่เราจะเข้าไปหาพวกเขาและให้ความรู้นั้นยิ่งยากกว่า และยังรวมถึงมีการรังเกียจผู้ติดเชื้อเอดส์ หรือมองว่าคนที่กินยาเหล่านี้เป็นคนสำส่อนทางเพศ นั่นทำให้คนยิ่งไม่กล้าเข้ารับบริการ” คุณฐาปนากล่าว
เรื่องทางเพศ เพราะรู้แต่ไม่เข้าใจจึงเป็นปัญหา
การปลูกฝังเรื่องค่านิยมทางเพศ เป็นอีกปัญหาที่คุณฐาปนาเห็นว่าเป็นต้นตอของปัญหา และมีผลต่อความนิยมใการใช้ยา PrEP และ PEP เนื่องจากในระบบการศึกษามักสอนเด็กให้รู้ถึงลักษณะของอวัยวะเพศ การมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่สอนให้เด็กและเยาวชนเข้าใจพื้นฐานเรื่องเพศ อารมณ์ทางเพศ และการต่อรองกับคู่นอนอย่างจริงจัง ทำให้เวลาเกิดปัญหาหรือเกิดความไม่เข้าใจ คนจึงมักแก้ปัญหาเองโดยที่ไม่แน่ใจว่าเป็นทางแก้ที่ถูกต้อง จนอาจสายไปสำหรับบางปัญหา
“พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องเพศของสังคม โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติและการรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาสำคัญ เพราะนำไปสู่การไม่ตรวจเลือดของคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งการไม่ตรวจเลือดคือปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เมื่อไม่มีการตรวจเลือด ก็เท่ากับไม่มีการปรึกษา ไม่มีการเข้ารับยา PrEP และ PEP ทำให้ปัญหาเอดส์ในไทยยังคงเรื้อรัง เพราะคนกลุ่มเสี่ยงไม่รู้ผลเลือดและไม่มีการป้องกัน กลายเป็นว่าเกิดการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัยมากขึ้น
“มีหลายเคสที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาแต่ไม่อยากตรวจเลือด บางคนกลัวผลเลือดมากกว่าการติดเชื้อเอดส์ เพราะสำหรับเขาแล้ว เมื่อตรวจและพบว่าติด ก็คือต้องทนรับสภาะถูกรังเกียจจากสังคม ซึ่งคนบางส่วนยอมตายด้วยโรคเอดส์ดีกว่าต้องมนถูกสังคมตีตราว่าเป็นเอดส์”
ด้าน คุณเทิดชัย สัตยพานิช เจ้าหน้าที่วิชาการอาวุโส โครงการ EpiC ประเทศไทย กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่านิยมของ PrEP และ PEP ในไทยยังมีน้อย เพราะคนไม่ตรวจเลือดหรือกลัวผลเลือด ซึ่งการที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ตรวจเลือด เป็นเพราะกลัวกลัวการถูกรังเกียจและการถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม
คุณเทิดชัยกล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนเกิดความเข้าใจ กับช่วยให้การเข้าถึงยา PrEP และ PEP เพิ่มมากขึ้น คือสื่อและการประชาสัมพันธ์ หากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี และเข้าถึงผู้คนได้อย่างหลากหลายและทั่วถึง จะทำให้ผู้คนเข้าใจและเข้าถึงยา PrEP และ PEP มากขึ้น รวมถึงช่วยสร้างค่านิยมในเรื่องเพศที่ดี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเลือกปฏิบัติในสังคมหรือการถูกรังเกียจลงได้ และทำให้คนกล้าที่จะเข้าถึงการให้บริการยา PrEP และ PEP มากยิ่งขึ้น
“สื่อมีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ PrEP และ PEP ยิ่งประชาสัมพันธ์ได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะคนจะเข้าใจและเข้าถึงมาก ยุคนี้คือยุคของสื่อ จึงควรมีการนำ PrEP และ PEP เข้าไปในสื่อกระแสหลักเหมือนกับในต่างประเทศ เพื่อทำให้ Prep และ PEP กลายเป็นยาทั่วไปที่ใช้ในการป้องกันโรคเอดส์ ไม่ใช่ยาที่ถูกมองว่าใช้เฉพาะกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเรื่องทางเพศเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมการเข้าถึง ดึงค่านิยม PrEP และ PEP
มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้ยา PrEP และ PEP ไม่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็นการไม่อยากตรวจเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องเพศของคนในสังคมไทย ค่านิยมที่มักมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่าอาย การเลือกปฏิบัติและการรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมไปถึงปัจจัยภายนอก นั่นคือ การมีสถานบริการไม่เพียงพอ และไม่ครอบคลุม กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะพื้นที่ ทำให้ผู้ที่ต้องการรับบริการเข้าถึงยาก
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของคนที่ทำงานบริการเกี่ยวกับโรคเอดส์ ที่จะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาการไม่นิยมใช้ยา PrEP และ PEP ในไทย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเป็นไปตามแผนเป้าหมายในการยุติโรคเอดส์ของประเทศไทย แต่หากมองอีกด้าน ผู้รับบริการและคนในสังคม อาจยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทมากพอในการแก้ไขปัญหา
โรคเอดส์ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่คนในประเทศควรร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อผลลัพธ์ทั้งในเรื่องสุขภาพและเรื่องของการประหยัดงบประมาณ หากดูค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโรคเอดส์ ปี พ.ศ. 2562 ใช้งบประมาณถึง 9,268 ล้านบาท เป็นงบประมาณในประเทศถึง 8,502 ล้านบาท เห็นได้ชัดเจนว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นความร่วมมือจากหลายส่วนหลายองค์กรจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่ปล่อยให้เป้นหน้าที่ของภาครัฐ องค์เอกชน หรือผู้มีความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว หากแต่ทุกคนในสังคมควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาี้ร่วมกัน
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องยา PrEP และ PEP รวมไปถึงการสร้างพื้นความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมไทย ให้เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยปรึกษากันได้ทั่วไป ขณะที่ผู้ให้บริการต้องส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงสถานบริการอย่างครอบคลุม และให้บริการอย่างเป็นความลับ ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อเป็นการจูงใจให้คนใช้ยา PrEP และ PEP เช่นเดียวกับสื่อที่ควรเข้ามามีบทบาทในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้คนเกิดความเข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึง และช่วยดึงค่านิยมของยา PrEP และ PEP ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีลงตามเป้าหมายที่วางไว้
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : ภัสร์ฐิตา พงศ์ถิรวิทย์
ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“เหมือนโลกเรามียักษ์ใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ทุกคนกลัว แล้วอยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งไปกรีดข้อเท้ายักษ์ ทำให้ทุกคนเห็นว่ายักษ์ก็เลือกออกได้ ถ้ายักษ์เลือดออกได้ ก็หมายความว่ายักษ์ก็ล้มได้นั่นเอง นี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นการเยือนไต้หวันของเพโลซีมันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่มันยิ่งใหญ่กับโลกด้วย”
หากกล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ หลาย ๆ คนคงนึกถึงเมืองแห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาล หรือโบราณสถานที่ยังคงอยู่ บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของ ‘คนเมือง’ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ว่ามีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ถือเป็นหลักฐานที่แสดงออกมาได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด
‘คราฟต์เบียร์ (Craft Beer)’ คือการผลิตเบียร์โดยผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผู้ผลิตต้องใช้ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงเบียร์ให้มีรสชาติหลากหลาย เน้นการใช้ส่วนประกอบตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมีแต่งกลิ่น และมักจะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผลไม้ ดอกไม้ กาแฟ ช็อกโกแลต จึงทําให้มีความต่างจากเบียร์ทั่วไปที่เรารู้จักกัน