• logo
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • บทความ
      News
      Art & Design
      Business
      Wellness
      Culture
      Insights
      Research
      Go Green
      Leisure
  • วิดีโอ
      Education
  • Podcast
      Wealth
      Environment
      Psychology
      Tecnology
logo
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • บทความ
    • News
    • Art & Design
    • Business
    • Wellness
    • Culture
    • Insights
    • Research
    • Go Green
    • Leisure
  • วิดีโอ
    • Education
  • Podcast
    • Wealth
    • Environment
    • Psychology
    • Tecnology
เมนส์มาลาได้ สิทธิการลาของผู้หญิงที่ควรได้รับโดยชอบธรรม
Insights
113
วันเผยแพร่: Oct 25,2024
อัปเดตล่าสุด: May 16,2025
เมนส์มาลาได้ สิทธิการลาของผู้หญิงที่ควรได้รับโดยชอบธรรม

เกิดเป็นหญิงแท้จริงนั้นแสนลำบาก คำกล่าวนี้ไม่เคยเกินจริง เมื่อเพศหญิงเกิดมาพร้อมกับการมีประจำเดือนในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอาการข้างเคียงในวันที่มามาก มีตั้งแต่ปวดท้องเพียงเล็กน้อยไปจนถึงปวดมากจนลุกไปทำงานแทบไม่ไหว บางรายเป็นไข้ อาเจียน และท้องเสีย จนต้องขอลางานโดยใช้โควตาของลาป่วย ปัจจุบันจึงมีการเดินหน้าของ "กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม" เรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถลาในวันนั้นของเดือนได้โดยที่ยังคงได้ค่าจ้างตามปกติ 

 

ภาพ : คุณศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา และคุณนิภาพร จิตมานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม

ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

 

การเดินหน้าของภาคประชาชน

เราได้พูดคุยกับพี่ศุ-ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา และพี่แสงฝาง-นิภาพร จิตมานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม คำถามแรก ๆ ที่เริ่มพูดคุยกัน เราตั้งคำถามไปว่า ‘จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนประเด็นนี้คืออะไร’ คำตอบจากพี่ศุคือ "เรื่องมันเริ่มมาจากที่ว่าไม่เคยเห็นใครลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและพบเจอได้กับผู้มีประจำเดือนหลาย ๆ คน แต่คนส่วนน้อยที่จะเห็นว่ามันจำเป็น เลยนำไปพูดคุยกันในตอนที่ได้มีโอกาสประชุมเครือข่ายที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายที่ทำการประชุมในคราวนั้นเห็นด้วยและยินดีที่จะร่วมขับเคลื่อนประเด็นนี้กันต่อไป มีเครือข่ายทั่วประเทศไทยที่ยินดีช่วยเหลือตามความถนัดของแต่ละองค์กร กลุ่มองค์กรที่เข้าร่วมประชุมในตอนนั้นก็จะมีกลุ่มหิ่งห้อยน้อย กลุ่มการเมืองหลังบ้าน กลุ่มฟื้นสุข และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นเมนส์มาลาได้"

ภาพ : เสื้อเมนส์มาลาได้ ที่กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมจัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์ข้อเรียกร้องให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน

ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

 

ส่วนทางฝั่งเชียงใหม่จะเป็นกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมจะเป็นองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการวิธีการขับเคลื่อนก็จะมีตั้งแต่การล่ารายชื่อให้คนลงรายมือชื่อว่าเห็นด้วยกับการให้มีวันหยุดประเดือนไหม การจัดประชุมเสวนา การเดินขบวนในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันแรงงาน วันสตรีสากล และพี่ศุยังเล่าเป็นมุกตลกขำ ๆ ว่าทุกครั้งที่ทางองค์กรได้มีการเดินทางไปร่วมงานกับเครือข่ายไหน ทางองค์กรเองก็จะพยายามสอดแทรกประเด็นนี้เข้าไปพูดด้วย อย่างน้อยก็มีคนรู้จักและสนใจเพิ่มมากขึ้น หรือในบางทีก็ใช้ความสนิทใจเข้าพูดคุยเพื่อให้คนที่พูดคุยอยู่ตระหนักถึงประเด็นสำคัญนี้อีกด้วย ถือว่าแนบเนียนมากในการทำงาน

 

อีกหนึ่งวิธีการขับเคลื่อนที่ถือว่าสำคัญมากในการเรียกร้องคือการยื่นหนังสือให้ทางฝั่งหน่วยงานราชการรับรู้เพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนที่ภาคประชาชนอาจจะทำเองไม่ได้ เลยทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นซึ่งก็คือ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมเดินหน้ายื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายด้านสตรีและเนื่องในโอกาสสัปดาห์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กปี 2566 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้

 

1. ขอให้มีการกำหนดวันหยุดโดยได้รับค่าจ้างให้กับคนทำงานทุกคนในวันที่เป็นประจำเดือน

2. ขอให้รัฐจัดให้มีผ้าอนามัยแจกฟรีทั่วประเทศ

3. ขอให้รัฐจัดสวัสดิการให้กับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและสถานะ

4. ขอให้รัฐจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกกรณีในสถานการณ์ฉุกเฉิน

หลังจากการยื่นหนังสือทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้มีหนังสือตอบกลับมาในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2567 รายละเอียดที่มีในหนังสือก็มีการพูดถึงข้อเรียกร้อง ผลการดำเนินงานและการขับเคลื่อนเชิงพัฒนา แนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอต่อองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ฟีดแบ็ก

ภาพ : ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมกำลังอธิบายภาพกิจกรรมการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องนโยบายด้านสตรี และเนื่องในโอกาสสัปดาห์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กปี 2566 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

 

ในด้านของเรื่องวันลาหยุดประจำเดือนทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการตอบกลับมาในด้านของแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า

‘ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความพร้อมกำหนดวันหยุดโดยได้รับค่าจ้างให้กับคนทำงานทุกคนในวันที่เป็นประจำเดือน’

‘ส่งเสริมให้สถานประกอบการ จัดกิจกรรมเพื่อสังคม Corporate Social Responsibility (CSR) ยื่นข้อเรียกร้องผ่านคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ’

 

นอกจากนี้มีรายละเอียดที่เป็นข้อเสนอต่อกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมว่า ‘ให้เสนอข้อเรียกร้องผ่านองค์การด้านแรงงาน เช่น สหภาพแรงงาน/สภาแรงงาน โดยผ่านระบบไตรภาคี’ นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีในการตอบกลับมาของหน่วยงานราชการที่ยังพอเห็นความสำคัญในข้อเรียกร้อง แต่ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปก็คงต้องติดตามต่อ

ทางภาคประชาชนร่วมต่อสู้กันอย่างเต็มที่ และยังมีอุปสรรคมากมายที่ต้องฟันฝ่า หนึ่งในปัญหาใหญ่คือความเข้าใจของคนทั่วไป

 

“พี่เลยอยากได้งานวิจัยที่มันชัดว่าในระยะสั้นหรือระยะยาว เกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพผู้หญิง แต่มันยังไม่มีทุนวิจัยในเรื่องนี้ไง”

 

เพราะในโลกที่วิทยาศาสตร์แทบจะเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ ความสำคัญของงานวิจัยเลยเป็นหลักฐานชั้นดีในการพิสูจน์ความเจ็บปวดของผู้มีประจำเดือน นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากในแง่มุมของการที่ต้องทำให้ฝั่งผู้ประกอบการเห็นด้วยและยอมรับอีก ในโลกของทุนนิยม ความเจ็บปวดของเนื้อตัวร่างกายของผู้มีประจำเดือนนั้นยังคงต้องพิสูจน์กันอยู่ร่ำไป 

อย่างไรก็ตาม จากการต่อสู้ของภาคประชาชน ประเทศไทยเรายังคงมีหวังที่จะทำให้เรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญขึ้นมาได้ บางทีอาจจะเป็นประเทศต่อไปในทวีปเอเชียที่มีการอนุญาตให้ลาประจำเดือนก็ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งฝั่งภาคประชาชน เอกชน และรัฐ หันมามองและให้ความสำคัญ ถ้าได้มีสวัสดิการนี้คงเป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทยเข้าใจสิทธิของผู้มีประเดือนมากขึ้นอีกหนึ่งขั้น “เห็นประเทศอื่นมีก็ดีใจ และอยากได้บ้าง” พี่ศุ กล่าว

 

ความหวังและการก้าวต่อ

ภาพ : บูธกิจกรรมของกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม จากงานจิ๋มเฟสติวัล 2 เมื่อวันที่ 31 – 1 กันยายน 2567 ณ กาลิเลโอเอซิส กรุงเทพมหานคร

ภาพโดย กุลปริยา โนนทัน

 

ปัจจุบัน การขับเคลื่อนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังเรียกร้องต่อภาครัฐ และรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้าใจในประเด็นที่กำลังขับเคลื่อน และมีการล่ารายชื่อคนที่เห็นด้วยต่อประเด็นตามองค์กรขับเคลื่อนต่าง ๆ ก็มีการจัดงานเพื่อพูดกล่าวถึงประเด็นเมนส์มาลาได้อยู่เรื่อย ๆ เช่น งาน Our Voices Our Change ที่จัดโดยกลุ่มหิ่งห้อยน้อย นักศึกษา และเครือข่ายอื่น ๆ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2567 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และงานจิ๋มเฟสติวัล 2 ที่จัดไปในวันที่ 31 – 1 กันยายน พ.ศ.2567 ณ กาลิเลโอเอซิส กรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มการเมืองหลังบ้าน ในงานนี้ก็มีการกล่าวถึงประเด็นเมนส์มาลาได้ด้วยเช่นกัน

 

“สำหรับพี่ จะภูมิใจมากเลยถ้ามันเรียกร้องได้ก่อนพี่ตาย” พี่ศุกล่าวออกมาด้วยน้ำเสียงที่จริงใจมากตั้งแต่คุยกันมา พี่ศุยังบอกอีกว่า ในทุก ๆ วันที่ทำการเรียกร้องตัวเขาไม่เคยมองว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อตัวเองเลยสักครั้ง แต่ทุกครั้งที่เลือกจะเรียกร้องอะไรสักอย่าง เขามองไปข้างหน้าเสมอว่าคนรุ่นหลังจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในยุคที่เขากำลังอยู่

 

“อย่างน้อย ๆ ประกาศเป็นกฎกระทรวง” นี่คือคำตอบในตอนที่เราตั้งคำถามไปว่า อะไรคือจุดมุ่งหวังของการขับเคลื่อนนี้

 

“เราอยากให้มันเกิดขึ้น เพราะว่าในฐานะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบปวดท้องประจำเดือน เราก็อยากให้มันเกิดขึ้น” พี่แสงฝางก็ยังคงย้ำชัดกับเราว่ายังคงมีความหวังกับเรื่องนี้ และยังกล่าวอีกว่าอยากให้นายจ้างเข้าใจ เพราะเขาเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยทำงานโรงงานมาก่อน มันไม่ได้มีอะไรมากมายที่นายจ้างเสีย และทางฝั่งลูกจ้างก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ และพี่แสงฝางยังย้ำชัดอีกครั้งว่า

 

"อยากให้มันผลักดันให้เป็นกฎหมายออกมาให้ไวที่สุด อยากให้มันสำเร็จไว ๆ อยากให้มันเกิดผลให้เห็นไว ๆ เราตั้งใจทำมาก ๆ” พี่ศุ ทิ้งท้าย

 

เรื่อง : กุลปริยา โนนทัน

พิสูจน์อักษร : เกสรา คล้ายแก้ว

ภาพปก : จิราพัชร พิทักษ์เมธี

ภาพ: กุลปริยา โนนทัน, นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • #เมนส์มาลาได้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานหญิงในภาคเหนือ เพราะการเป็นประจำเดือนไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้ลาพัก
  • สเปนผ่านกฎหมาย ‘Menstrual Leave’ อนุญาตให้ลาปวดประจำเดือน 3 วัน/เดือน
  • เมื่อสังคมไม่อนุญาตให้ ‘ผู้มีประจำเดือน’ ได้สิทธิหยุดงาน การเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ จึงกลายเป็นแค่เรื่องเห็นแก่ตัว
  • จิ๋มเฟส X เปิดบ้านการเมืองหลังบ้าน
  • งาน Our Voices Our Change
  • หนังสือตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กธญ.). (15 มกราคม 2567). สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
บัณฑิตสร้างงานหรือสังคมสร้างกรอบ ?
  • Insights
บัณฑิตสร้างงานหรือสังคมสร้างกรอบ ?

เมื่อตลาดแรงงานไม่ให้โอกาสเด็กจบใหม่ เพียงเพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ?

อกนิษฐ์ มาโนษยวงศ์ โปรดิวเซอร์มือทองกับการปรับนตัวท่ามกลางกระแสออนไลน์
  • Insights
อกนิษฐ์ มาโนษยวงศ์ โปรดิวเซอร์มือทองกับการปรับนตัวท่ามกลางกระแสออนไลน์

ในวงการโทรทัศน์ ชื่อของ หลา-อกนิษฐ์ มาโนษยวงศ์ คือผู้อยู่เบื้องหลังที่ผลิตรายการเตือนภัยสังคมแบบเจาะลึกอย่าง “เรื่องจริงผ่านจอ” ซึ่งออกอากาศมายาวนานถึง 24 ปี ปัจจุบันเขายังเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท สาระดี จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท กันตนา จำกัด (มหาชน) จากการทำงานมาอย่างยาวนานในฐานะโปรดิวเซอร์ที่ต้องครีเอทและผลิตคอนเทนต์เพื่อดึงดูดผู้ชม ซึ่งปัจจุบัน สื่อออนไลน์มาแรงแซงหน้าทุกแพลตฟอร์ม จนทำให้สื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ต้องปรับตัวขนานใหญ่ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ อกนิษฐ์ เมื่อครั้งที่เขามารับโล่รางวัลในฐานะศิษย์เก่าดีเด่น ด้านความสำเร็จในอาชีพ/หน้าที่การงาน ประจำปี 2567 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้มาแชร์ถึงวิธีปรับตัวในฐานะโปรดิวเซอร์ และการรับมือกับโลกของสื่อที่เปลี่ยนไปในทุกขณะ

6 รอยเลื่อนสำคัญของโลก ที่มีศักยภาพรุนแรงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
  • Insights
6 รอยเลื่อนสำคัญของโลก ที่มีศักยภาพรุนแรงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

นอกจากรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา ซึ่งนับเป็นรอยเลื่อนที่มีความเสี่ยงสูงและศักยภาพรุนแรงหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ยังมีอีก 6 รอยเลื่อนแห่งประวัติศาสตร์ ที่ถูกบันทึกว่าเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ของโลก

เว็บไซต์ใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน  รายละเอียด
logo
  • บทความ
  • วิดีโอ
  • Podcast
  • ติดต่อเรา
Copyright © 2023 CMU. All Rights Reserved. Powered by I GEAR GEEK