หากพูดถึงธุรกิจงานฝีมือ คุณนึกถึงอะไร ?
หลายคนอาจจะนึกถึงงานที่ต้องเย็บปักถักร้อย งานที่เกี่ยวข้องกับการสาน หรืองานประเภทไม้และโลหะ ซึ่งคนส่วนใหญ่คงรู้สึกว่าล้าสมัย ไม่ได้เป็นธุรกิจที่น่าดึงดูดอะไร
แต่ถ้าเราลองมองให้ลึกลงไปอีกและพินิจพิจารณาให้ละเอียดกว่านั้นล่ะ ? เราจะเห็นว่างานฝีมือมีอะไรมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ไปจนถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
และถ้าสิ่งที่ผู้เขียนบอกไปยังทำให้คุณเห็นภาพไม่ชัดเจนพอ เราจะพาคุณไปพบกับธุรกิจงานฝีมือจากเมืองแห่งสุนทรียภาพทางศิลป์ อย่าง ‘เชียงใหม่’ แล้วคุณจะเข้าใจว่าธุรกิจที่แสนธรรมดาแบบนี้มันมีความพิเศษขนาดไหน
ธุรกิจงานฝีมือในเมืองสร้างสรรค์
‘เชียงใหม่’ จังหวัดที่รายล้อมไปด้วยภูเขาสูงและสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม เพราะมีการผสมผสานระหว่างความเก่าและใหม่อย่างลงตัว สิ่งที่ผู้มาเยือนจะได้เห็นคือการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สิ่งที่เป็นมรดกล้ำค่าเอาไว้ เช่นเดียวกับธุรกิจหนึ่งของที่นี่ที่ใครหลายคนมักจะนึกถึง อย่าง ‘ธุรกิจงานฝีมือ’ ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“Chiang Mai envisages :creating opportunities for young artists and entrepreneurs, to exchange and network with international stakeholders notably through the Chiang Mai Design Week and strengthening international recognition of Chiang Mai craft products in new markets” (UNESCO Creative Cities Network)
ข้อความข้างต้นมาจากประกาศขององค์การ UNESCO ที่ได้รับรองให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นสมาชิกโครงการเครือข่ายสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปีพ.ศ. 2562 เนื่องจากเห็นศักยภาพว่าพื้นที่แห่งนี้จะสามารถสร้างโอกาสให้กับศิลปินรุ่นใหม่และผู้ประกอบการได้ และด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เชียงใหม่รายล้อมไปด้วยธุรกิจงานฝีมือที่มีความหลากหลายไม่จำเจ รวมทั้งมีการจัดงานหรือนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอยู่บ่อยครั้ง เพื่อสนับสนุนการทำงานฝีมือ และเป็นจุดร่วมให้คนที่มีความสามารถในด้านนี้ได้มาปล่อยของกัน ไม่ว่าจะเป็น Chiang Mai Design Week, Crafts Blooms Festival และ Chiang Mai Crafts Week เป็นต้น
ในบทความเรื่อง ‘หัตถกรรมท้องถิ่น เชียงใหม่ ปรับตัวตามเทรนด์โลก ชนะใจผู้บริโภค’ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้ข้อมูลว่าเราสามารถแบ่งสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นในเชียงใหม่คร่าว ๆ ได้ 6 ประเภท ประกอบด้วย เครื่องจักสาน งานไม้ งานผ้า เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องเขิน ซึ่งสินค้าแต่ละประเภทยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในเขตเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะประเภทเครื่องจักสาน โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้ในปัจจุบันการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นที่นิยมมากขนาดไหน แต่การเลือกซื้อสินค้าหัตถกรรมของผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นแบบ Offline Shopping เพราะนิสัยที่ชอบจับและทดลองก่อนใช้นั่นเอง
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเองก็เห็นความน่าสนใจของธุรกิจงานฝีมือที่เชียงใหม่เช่นเดียวกัน ด้วยเอกลักษณ์และการสร้างสรรค์งานฝีมือใหม่ ๆ ที่สวยสะดุดตา อีกทั้งผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างเริ่มที่จะหันมาใส่ใจกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกด้วย
‘เชียงใหม่’ กับการเติบโตของธุรกิจงานฝีมือ
อย่างที่ทราบกันดีว่า เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ขณะที่งานฝีมือจากที่นี่ก็เป็นที่นิยมอย่างมาก ด้วยเหตุผลนี้เราจึงได้เห็นศิลปินและผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาในธุรกิจงานฝีมือหรือ ‘งานคราฟต์’ อยู่เรื่อย ๆ
ด้วยความที่ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าหัตถกรรมในเชียงใหม่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าการที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองเติบโต พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ และการค้นหาอะไรใหม่ ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจของตนเองมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ การอนุรักษ์กระบวนการดั้งเดิม และรักษาไว้ซึ่งคุณค่าที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้มากขึ้น สิ่งนี้แหละที่ทำให้เชียงใหม่มีงานฝีมือที่หลากหลาย ผสานกันทั้งความเก่าและใหม่ได้อย่างกลมกลืนกัน
อชิตพล ไชยเวียง นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นถึงธุรกิจงานฝีมือในจังหวัดเชียงใหม่ว่า “จากที่เป็น Local People นะครับ ก็รู้สึกว่างานคราฟต์ของที่นี่จะเน้นเรื่องการใช้วัสดุที่สามารถหาได้จากในท้องถิ่น เช่น แถวสันกำแพงก็จะมีการทำร่มบ่อสร้าง ใช้ไม้ใช้กระดาษ หรือว่าแถวข่วงสิงห์ก็จะมีพวกตีเหล็กอะไรแบบนี้ครับ”
ด้าน ยุจเรศ สมนา ผู้ก่อตั้งบริษัท เดอ คัวร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ ‘De Quarr’ (เดอ คัวร์) กล่าวว่า “งานคราฟต์ของแต่ละที่จากทั่วโลกมีเสน่ห์ไม่เหมือนกันค่ะ สำหรับเชียงใหม่ ตัวงานอาจจะมีกลิ่นอายความเป็นชนเผ่าเยอะ เนื่องจากว่าสังคมเชียงใหม่มีความหลากหลายทางชาตพันธุ์ มีหลายเผ่าที่อยู่ในเชียงใหม่ ทำให้คนเหล่านี้ค่อย ๆ กลมกลืนจนเป็นคนเชียงใหม่ ดังนั้นภาพที่สื่อสารออกไปยังคนข้างนอกก็จะทำให้มันมีความหลากหลายมากกว่า อย่างที่อื่นเนี่ย ถามว่าของเขาสวยไหม มันก็สวย เด่นไหม ก็เด่นเหมือนกัน แต่อัตลักษณ์ของเขากับเราจะต่างกัน”
ขณะที่ พนัญไชย กล่ำกล่อมจิตต์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ดูแลการตลาดของ Castown ธุรกิจคราฟต์โซดาชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ มองว่างานฝีมือถือเป็นเสน่ห์ของเชียงใหม่ “มาที่เชียงใหม่ คุณจะเห็นงานคราฟต์เต็มไปหมด ซึ่งคราฟต์มันคือการสร้างสรรค์ มันมีความประณีต มีภูมิปัญญา มีองค์ความรู้แล้วส่งมอบให้คนที่ได้รับ นั่นแปลว่าคนเชียงใหม่มีความสามารถในการส่งมอบความประทับใจผ่านงานศิลปะ ผมว่าตรงนี้คือเสน่ห์ของที่นี่”
เมื่อธุรกิจงานฝีมือปรับตัวเพื่อสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย กระแสของธุรกิจสีเขียวหรือ Green Business จึงเข้ามามีบทบาทในแวดวงธุรกิจมากขึ้น ไม่เฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ธุรกิจงานฝีมือเองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและปรับตัวให้เท่าทันโลกด้วยเช่นกัน
.หากสงสัยว่า Green Business คืออะไร ในบทความเรื่อง ‘ธุรกิจหัวใจสีเขียว และหลากวิธีคิดง่าย ๆ ในการเปลี่ยนสี’ จากเว็บไซต์ 7 Greens ก็ได้ให้คำอธิบายว่า ธุรกิจสีเขียว คือการทำธุรกิจโดยพึงระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ท้องถิ่น ชุมชน หรือสังคม เพื่อที่จะให้เกิดความยั่งยืน และไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจขนาดใด ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจสีเขียวได้
เช่นเดียวกับที่งานวิจัยเรื่อง ‘กลยุทธ์การตลาดโลกสวย’ จากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคในยุคใหม่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีกระบวนการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีทัศนคติในการรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น รวมทั้งต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดโลกร้อน ผ่านการอุปโภคและบริโภคสินค้าตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
ในฐานะผู้บริโภค อชิตพลยอมรับว่าเขาให้ความสนใจกับงานคราฟต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ “ทุกวันนี้ในบ้านเรายังไม่ค่อยเห็นการทำงานคราฟต์ที่ช่วยหรือเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเห็นจากต่างประเทศมากกว่า เช่น ลูกบอลคริสตัลที่เกาหลีเหนือเอาเศษขยะจากทะเลมาทำ ก็คาดหวังว่าประเทศไทยจะทำในส่วนตรงนี้เหมือนกัน”
ส่วนพนัญไชยกล่าวว่าการที่จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้โลกน่าอยู่มากขึ้น ควรจะเน้นไปที่เรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภคก่อน เพราะเมื่อผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี การช่วยเหลือโลกจะเป็นเรื่องจับต้องได้ง่ายขึ้น
“ด้วยความที่สินค้าของเราอยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มใช่ไหมครับ สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้คือการทำให้สินค้ามีความสะอาด ปลอดภัย เช่น การใช้น้ำยาล้างขวดหรือข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ที่เป็น Food Grade รวมถึงกระบวนการที่ไม่มีสารปนเปื้อน ซึ่งในการทำธุรกิจ คุณจะมองข้ามสิ่งที่เรียกว่า Food Safety ไม่ได้เลย ผมคิดว่าการที่โลกจะดีได้ สุขภาพผู้บริโภคของเราต้องดีก่อน ดังนั้นนี่คือหลักการของ Castown ในทุกกระบวนการที่เราทำ”
ด้านยุจเรศกล่าวว่า De Quarr ไม่เพียงใส่ใจต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่ยังเน้นไปที่การช่วยเหลือสังคมเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น กล่าวคือมีหัวใจหลักในการทำงานเป็น Good Business ที่มี Green Business เป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
“ธุรกิจเราไม่ได้จำกัดแค่ประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีประเด็นเพื่อสังคม เราต้องการให้งานหัตถกรรมมีกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอามาสร้างคุณค่าเพื่อให้โอกาสกับคนที่ไม่เคยได้รับโอกาส หรือคนที่เข้าถึงโอกาสการบริการของรัฐได้น้อยค่ะ ถ้าเป็น Green Business เราอาจจะปรับไปตามกระแสหรือเทรนด์ที่มันเป็นรายผลิตภัณฑ์ จริง ๆ แล้ว Core Business ของเราเนี่ย ใช้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งก็มีความเป็น Eco และเป็น Green ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้ใช้ของที่มันเป็นแบบวัตถุสารเคมีอะไรแบบนั้น”
‘งานฝีมือ’ กับค่านิยมที่ควรเปลี่ยนแปลง
คงไม่มีใครปฏิเสธว่างานหัตถกรรมหรือ ‘งานคราฟต์’ ถือเป็นอีกจุดเด่นและภาพจำเมื่อนึกถึงเชียงใหม่และการเติบโตของธุรกิจนี้ก็ส่งผลสะท้อนกลับสู่เมือง ทั้งในแง่ของเม็ดเงินรายได้ที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายสินค้า ซึ่งรวมไปถึงวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต และรายได้ที่เกิดจากการจ้างงาน ที่ทำให้คนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้สามารถใช้ทักษะงานฝีมือที่ตนมี มาสร้างงานสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นธุรกิจที่เต็มไปด้วยโอกาส ตราบเท่าที่ผู้สนใจมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลงานที่แตกต่างและเป็นที่ต้องการในท้องตลาด และยิ่งสร้างโอกาสเพิ่มมากขึ้นเมื่อก้าวไปในแนวทางของธุรกิจสีเขียวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยมุมมองบางอย่างของคนในสังคม กลายเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้งานฝีมือเติบโตไปข้างหน้าได้มากอย่างที่ควรจะเป็น
“ภาพลักษณ์งานหัตถกรรมในประเทศไทยคือ ต้องราคาถูก เพราะว่าคนในชาติไม่ได้ให้ความสำคัญ” คือคำอธิบายจากยุจเรศ “คนมักมองแต่ต้นทุนว่านี่เป็นผ้าทอ มองว่าเป็นแค่ของ ไม่ได้มองเห็นถึงคุณค่า ไม่ได้มองถึงจิตวิญญาณและความทุ่มเทที่ช่างฝีมือใส่ลงไปในผลงาน แต่ตีค่าว่ามันเป็นแค่วัตถุ เช่น เอากระเป๋าสานสามใบร้อยไปเทียบกับงานจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน และด้วยความที่เราไม่ถูกปลูกฝังเกี่ยวกับการสร้างเรื่องราว การเชิดชูคุณค่าของสิ่งนี้ขึ้นมา เลยกลายเป็นภาพลักษณ์ว่าถ้าเป็นสินค้าหัตถกรรม สินค้าชุมชน ต้องราคาถูก”
ยุจเรศกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสิ่งหนึ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเมื่อพูดถึงงานฝีมือหรืองานหัตถกรรม คือภาพจำว่างานเหล่านี้เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ “สำหรับคนที่ทำงานด้านนี้ หลายคนยังมองว่ามันคืองานสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราควรจะเรียนรู้และปรับตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวดีไซเนอร์หรือคุณพ่อคุณแม่ ก็คือต้องพยายามเชื่อมคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า พยายามสื่อสารกันให้เข้าใจว่าที่ปลายทาง สินค้าที่ผลิตออกมานั้นจะไปสู่ตลาดแบบไหน”
อย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวในบทนำไปว่า ยังมีคนอีกมากที่มองว่าธุรกิจงานฝีมือนั้นดูธรรมดา ล้าสมัย และไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากเท่าที่ควร ซึ่งใครหลายคนที่ว่าก็คือคนไทยเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นต่อให้ธุรกิจงานฝีมือจะมีการเติบโตขึ้นมากแค่ไหน แต่ช่องโหว่ในเรื่องของค่านิยมหรือความเข้าใจผิดตรงนี้ก็ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของงานฝีมือที่ควรค่าแก่การสนับสนุนอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ด้วยโอกาสที่เปิดกว้าง เราคาดหวังว่าในอนาคตจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นในแวดวงของงานฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของค่านิยม การตระหนักต่อส่วนรวมในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้งานคราฟต์ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแส แต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับผู้คนและเมืองต่อไปในอนาคตได้
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : นุชจรี โพธิ์นิยม
ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” บ่อยครั้งที่ได้ยินและได้เห็นประโยคนี้ ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีทำให้หนังสือปรากฏอยู่บนหน้าจอเล็ก ๆ ได้ การที่ร้านหนังสือตามริมทางจะหายไปจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีผู้คนที่ยังหลงใหลในสัมผัสของกระดาษที่ได้จับผ่านมือ และกลิ่นอายของกระดาษและน้ำหมึกก็ยังคงติดตรึงในใจ
การออก ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565’ ที่กำหนดให้ทุกส่วนของ ‘กัญชา’ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) จำนวนไม่เกิน 0.2% ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2564 แล้ว ยังถือเป็นการ ‘ปลดล็อค’ ที่ส่งผลให้การใช้กัญชาในประเทศไทยสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด
ตั้งแต่เกิดมาจนอายุสิบเก้า ความรู้เรื่องการเอาตัวรอดของกูเรียกได้ว่ามีน้อยนิดยิ่งกว่าหางอึ่ง ถ้าไม่ใช่คนอยากรู้อยากเห็น ถ้าไม่ศึกษาเอาเอง กูว่ากูคงเอาตัวรอดในประเทศนี้ได้ยากแน่”