ในวงการโทรทัศน์ ชื่อของ หลา-อกนิษฐ์ มาโนษยวงศ์ คือผู้อยู่เบื้องหลังที่ผลิตรายการเตือนภัยสังคมแบบเจาะลึกอย่าง “เรื่องจริงผ่านจอ” ซึ่งออกอากาศมายาวนานถึง 24 ปี ก่อนจะโบกมือลาจากหน้าจอโทรทัศน์เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์แทน
การที่ออนไลน์เข้ามาเบียดการคงอยู่ของสื่อดั้งเดิม อกนิษฐ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สาระดี จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท กันตนา จำกัด (มหาชน) มีวิธีปรับตัว และรับมืออย่างไรกับโลกของสื่อที่เปลี่ยนไปในทุกขณะ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเขาเมื่อคราวที่มาเยือนถิ่นเก่า คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่น ด้านความสำเร็จในอาชีพ/หน้าที่การงาน ประจำปี 2567
สำนักข่าวอ่างแก้ว : ปัจจุบันสื่อออนไลน์มาแรงและเบียดการดำรงอยู่ของสื่อเก่าหรือสื่อดั้งเดิม ในฐานะที่เป็นโปรดิวเซอร์และเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์มายาวนาน มีมุมมองต่อเรื่องนี้ยังไงบ้าง ?
อกนิษฐ์ : คนดูยังคงเสพคอนเทนต์เป็นหลัก เพียงแต่เปลี่ยนเป็นเสพจากความสะดวกมากกว่า เมื่อไหร่ก็ได้ Anywhere Anytime เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือทำคอนเทนต์ยังไงให้น่าติดตามเพราะว่าคู่แข่งเราตอนนี้ไม่ได้มีแค่ช่องหลักๆ 3 5 7 9 เรามีทีวีดิจิทัลเพิ่มเข้ามาอีกเป็น 10 ช่อง แล้วยังมีออนไลน์อีกทั่วโลกที่เป็นคู่แข่ง เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกเสพ หน้าที่เราคือทำยังไงก็ได้ให้คอนเทนต์เราโดดเด่น ซึ่งเราอาจจะถูกเลือกหรือไม่ถูกเลือกก็ได้
สำนักข่าวอ่างแก้ว : แล้วสปอนเซอร์ล่ะคะ มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง ?
อกนิษฐ์ : สปอนเซอร์ก็ลดน้อยลง จะเห็นว่ารายการหลักๆ ที่เคยทำเงิน ค่อยๆ ทยอยหายไปเรื่อยๆ เพราะว่าเงินที่ใช้ซัพพอร์ตในการผลิตมีน้อย พอน้อย คุณภาพก็จะบางไปตามคอนเทนต์ หลายรายการที่เรารู้จักค่อยๆ เลิกกันไป ส่วนเราถึงจะไปทำออนไลน์ด้วยก็จริง แต่ออนไลน์ก็ต้องใช้งบฯ เหมือนกัน หน้าที่ของเราคือต้องทำ Original Content ที่เป็นทีวีให้ได้ และทำออนไลน์ให้โดดเด่น ให้คอนเทนต์เป็นที่น่าสนใจ อาจจะไปร่วมกับ Netflix หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อทำคอนเทนต์ที่สามารถทำเงินได้อีกก้อนหนึ่ง นั่นคือ วิธีการที่เราจะอยู่รอดได้ แต่บอกเลยว่ามันยากมาก ณ ตอนนี้
สำนักข่าวอ่างแก้ว : การทำคอนเทนต์สำหรับสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี และคอนเทนต์สำหรับสื่อออนไลน์ มีความแตกต่างกันยังไงบ้าง ?
อกนิษฐ์ : การทำคอนเทนต์ออนไลน์ต้องกระชับฉับไว ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ต้องเกริ่นนำเยอะ อะไรก็ได้ที่มันฮิป และที่ดูแล้วต้องฮุกคนดูให้ได้ ต้องสั้นๆ ไม่ยาวมาก แต่ข้อดีของคนทีวีคือเราจะจับประเด็นที่น่าสนใจได้อยู่แล้ว แค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ อาจจะไม่ต้องประดิษฐ์มากในแง่ของทีวี คือทำยังไงก็ได้ให้ง่ายหน่อย ตัดต่อเร็ว และทันกระแส
ส่วนสื่อทีวีแบบดั้งเดิม ก็ต้องเปลี่ยนให้พรีเมี่ยมไปเลย และดูได้เฉพาะที่นี่ที่เดียว สองคือคนที่จะมาออกทีวีได้นั้น ต้องสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้เราได้เพราะคนบางกลุ่มที่ชอบเสพทีวีเป็นหลัก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัด ยังคงเชื่อถือสื่อทีวีมากกว่าออนไลน์เพราะว่าสื่อออนไลน์อาจจะไม่มีคนสแกนว่าอันนี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่ทีวีมีคนสแกนมาแล้ว ก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน หรือบางทีเราอาจจะเอาคอนเทนต์ทีวีมาตัดใหม่เพื่อลงออนไลน์
สำนักข่าวอ่างแก้ว : ปัจจุบันกันตนาผลิตคอนเทนต์สำหรับสื่อทั้งสองรูปแบบไหม ?
อกนิษฐ์ : ใช่ครับ และเราต้องทำอีเวนท์ด้วยเพื่อเอาคอนเทนต์ในทีวีมาออกอีเวนท์ให้คนสัมผัสได้จริง แล้วทำร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ในออนไลน์ สร้างเป็นคอนเทนต์ขึ้นมา เพื่อทำให้สปอนเซอร์สนใจที่จะเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนเพราะว่าสปอนเซอร์จะได้ทั้งสื่อทีวี สื่อออนไลน์ และอีเวนท์ด้วย เราต้องคิดให้มันเป็นฟังก์ชั่นแบบนี้ถึงจะตอบโจทย์
ถ้าในแง่ของต้นทุน คนที่จะต้องมาทำงานในยุคนี้ ต้องปรับตัวเองเยอะมากๆ จากเดิมที่เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจน คนนี้เป็นโปรดิวเซอร์ คนนี้ตัดต่อ ปัจจุบันทุกคนต้องทำให้ได้ทุกหน้าที่เพราะว่ามันต้องลดต้นทุนลงให้ได้เพราะเดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่สามารถทำคนเดียวได้จบเพราะเทคโนโลยีมันเอื้อ ทั้งตัดต่อ ถ่ายทำ ใช้มือถือเครื่องเดียวถ่ายก็ทำงานได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือการคิดคอนเทนต์ การจับประเด็น เรื่องของการนำเสนอที่ยังเป็นเรื่องเฉพาะทาง ซึ่งยังต้องการคนที่เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ มาทำ
สำนักข่าวอ่างแก้ว : ปรับตัวเยอะไหมกับความเปลี่ยนแปลง ?
อกนิษฐ์ : ยากในส่วนที่ต้องลดสเกลโครงสร้างลงมา บางส่วนที่ต้องล้มหายตายจากกันไป เอาคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการนี้ออก แล้วเก็บเอาคนที่ทำได้ให้อยู่ต่อ มันอาจจะโดดเดี่ยวหน่อย ซึ่งเราเป็นคน Gen X ก็ยังต้องปรับตัว คอนเทนต์เราอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องมีเลือดใหม่เข้ามาเพื่อดึงให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กยังคงอยู่ ต้องทำอย่างนั้นด้วย ให้มันคู่ขนานกัน
ยิ่งในปัจจุบัน กระบวนการสื่อสารมันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำคอนเทนต์ มีทั้ง AI เครื่องมือตัดต่อ ทั้งอุปกรณ์ในการถ่ายทำ เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการสื่อสาร ยังไงก็มองว่าเขาต้องมีพื้นฐานในการครีเอทงาน มีกระบวนการคัดเลือกเนื้อหาที่ดี มีคุณภาพกับคนที่ดู อันนี้สำคัญ
เรื่องทักษะ ควรสอนเรื่องที่สามารถทำให้เป็นมัลติฟิลด์ เช่น สอนให้เขาเข้าใจกระบวนการใช้เทคโนโลยีให้คล่องเพื่อให้เขาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แล้วก็เข้าใจกระบวนการทำการตลาด กระบวนการในการเจาะกลุ่มเป้าหมายเพราะว่าเดี๋ยวนี้กลุ่มเป้าหมายไม่เป็นก้อนใหญ่แล้ว เป็น Segment เป็น Niche ซึ่งเราสามารถทำคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์แต่ละกลุ่มได้
สำหรับคนที่เข้ามาในวงการนี้ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้มากๆ แล้วก็เข้าใจการตลาดด้วย เข้าใจในเรื่องของการหBudget ซึ่งมีเงินอยู่ในระบบออนไลน์เยอะมาก แต่ว่าจะดึงเข้ามายังไง อันนี้ที่ต้องมีสกิลด้านนี้ด้วย
สำนักข่าวอ่างแก้ว : แล้วปัจจุบันมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง การทำงานกับทางช่องและ/หรือพฤติกรรมคนดูละครเปลี่ยนไปไหม ?
อกนิษฐ์ : ถ้าเป็นยุคก่อน คนผลิตคอนเทนต์เพื่อออกรายการ จะมีสปอนเซอร์มาสนับสนุน ช่องก็ต้องคัดเลือกว่ารายการต้องดี มันจะประกอบด้วย 3 ส่วนนี้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว มันเหมือนกับว่าคนดูเป็นคนเลือกเสพเองว่าคอนเนทนต์ไหนน่าสนใจ สปอนแซอร์ก็จะเลือกให้เงินกับคนที่ทำคอนเทนต์แล้วโดนใจกลุ่มเป้าหมายหรือตรงกับสินค้าที่เขาขาย ยิ่งตอนนี้มีตัวเลือกเยอะขึ้น ช่องทางเยอะขึ้น แต่ถ้าเราจับทางถูก มันก็ไปได้นะ อย่างละครคุณธรรม จริงๆ มีคนทำงานแค่ 3-4 คน แต่สามารถทำเงินได้เป็นล้าน เพราะคนดูเข้าถึง คนดูเยอะ สปอนเซอร์ก็ซื้อ
เทรนด์คนดูละครตอนนี้ เขาจะไม่ดูละครยาวๆ แล้ว จะดูละครสั้นๆ 1-2 นาที แล้วก็ดูไปเรื่อยๆ เช่น เราจะเห็นว่าช่องของจีนนิยมทำเป็น short film ซึ่งออนไลน์จะเป็นแบบนั้น ถ้าทำเป็นตอนยาวๆ ต้องทำเป็นซีรี่ย์แบบ 10 ตอน จบภายใน 10 ตอน แล้วสามารถดูได้ทันที อย่างกันตนานทำสืบสันดาน 7-8 ตอนจบ แต่เป็นคอนเทนต์ที่คนพูดถึง ซึ่งเราทำให้กับ ผู้ว่าจ้าง คือคิดแต่คอนเทนต์แล้วทำให้เขา เป็นอีกโมเดลธุรกิจหนึ่งที่มีเม็ดเงินจากต่างประเทศมาสนับสนุน ไม่ได้เป็นโมเดลแบบเดิมที่ทำออกทีวีแล้วมีสปอนเซอร์ ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการนี้
สำนักข่าวอ่างแก้ว : สิ่งสำคัญของการทำงานสื่อในยุคที่เป็นสังคมออนไลน์
อกนิษฐ์ : เรามองว่าข้อเสียของออนไลน์ คือมันไม่มีการคัดกรองถูกผิด เช่น คลิป ข่าวกระแสรายวัน หรืออะไรที่เป็นข่าวทั่วๆ ไป แล้วบางอย่างเป็นเรื่องที่อาจจะเอาความคิดเห็นที่ไม่ถูกใส่เข้าไป มันก็ทำให้ความคิดของคนผิดเพี้ยนเหมือนกัน ซึ่งหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องทำคอนเทนต์ให้ถูกต้อง เพราะคอนเทนต์คือหัวใจหลัก โดยคนดูจะคอนเทนต์เป็นหลัก เพียงแต่เลือกความสะดวกของตัวเองในการเสพสื่อแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นเราต้องทำอะไรก็ได้ที่มันตอบโจทย์ ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แล้วหาคนดูให้เจอเพราะกลุ่มคนดูเป็นก้อนใหญ่ ที่มีความชอบหลากหลายและแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเราจะจับกลุ่มใด แต่ทุกกลุ่มมีเม็ดเงินหมด ดังนั้น ถ้าเราสังเกตดีๆ ทุกอย่างมี Segment หมด อยู่ที่ว่าเราจะเจาะไปที่กลุ่มไหนมากกว่า
สำนักข่าวอ่างแก้ว : แล้วหาคนทำคอนเทนต์ยากไหมในยุคนี้
อกนิษฐ์ : ถ้าในแง่ของบริษัท หากคนทำงานประจำนั้นหายาก แต่คนเป็นฟรีแลนซ์อิสระ มีเยอะ ดังนั้น คนทำคอนเทนต์จึงไม่ได้ขาดแคลน ทุกวันนี้ เราจะเห็น Content Creator ไปทำช่องตัวเองหลายคน และทำคอนเทนต์ที่ตัวเองถนัด แต่จะทำยังไงให้โดดเด่น อยู่ที่ว่าคอนเทนต์นั้นมันตอบโจทย์รึเปล่า
เรื่อง : วีณา บารมี
ว่ากันว่าหนึ่งในวิธีการขอบคุณตัวเองที่ดีสุด คือการลงทุนกับตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีเพียงการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อลับตนให้คมอยู่เสมอเท่านั้น การลงทุนกับสุขภาพร่างกายและความงามซึ่งเป็นภาชนะห่อหุ้มจิตวิญญาณของเราในทุก ๆ วัน ก็เป็นการขอบคุณและเสริมสร้างความมั่นใจที่มีแต่ได้กับได้เช่นกัน
เกิดเป็นหญิงแท้จริงนั้นแสนลำบาก คำกล่าวนี้ไม่เคยเกินจริง เมื่อเพศหญิงเกิดมาพร้อมกับการมีประจำเดือนในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอาการข้างเคียงในวันที่มามาก มีตั้งแต่ปวดท้องเพียงเล็กน้อยไปจนถึงปวดมากจนลุกไปทำงานแทบไม่ไหว บางรายเป็นไข้ อาเจียน และท้องเสีย จนต้องขอลางานโดยใช้โควตาของลาป่วย ปัจจุบันจึงมีการเดินหน้าของ "กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม" เรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถลาในวันนั้นของเดือนได้โดยที่ยังคงได้ค่าจ้างตามปกติ
เมื่อตลาดแรงงานไม่ให้โอกาสเด็กจบใหม่ เพียงเพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ?