ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่อยากจะย้ายประเทศเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะงานประเภท 3D ได้แก่ งานหนัก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Dangerous) เพราะงานเหล่านี้เป็นงานที่แรงงานไทยไม่นิยมทำ
เมื่อคนในส่วนหนึ่งไม่อยากทำ ส่วนหนึ่งก็อยากออกนอกประเทศ ก็จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามาทดแทน แรงงานข้ามชาติจึงกลายเป็นแรงงานหลักและกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปโดยปริยาย
คำถามที่ตามมาก็คือ แรงงานที่เราขาดไม่ได้เหล่านี้ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เมื่อต้องจากบ้านมาทำงานในเมืองไทย ?
แรงงานข้ามชาติ = พลเมืองชั้นสอง ?
‘แรงงานข้ามชาติ’ คำนี้ฟังแล้วอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ แล้ว เราจะนึกได้ทันทีว่าหมายถึงแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว และกัมพูชา
จริง ๆ แล้วคำว่า ‘คนต่างด้าว’ เป็นคำที่ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยหมายถึงบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และกำหนดไว้ว่าคนต่างด้าวจะทำงานได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน หรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมายเท่านั้น อีกทั้งคำนี้ยังเป็นคำไทยเดิมอีกด้วย เพราะคำว่า ‘ด้าว’ แปลว่า ‘ดินแดน’ คำว่าแรงงานต่างด้าวจึงแปลได้ว่าแรงงานต่างดินแดนนั่นเอง
ส่วนคำว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ นั้น องค์การสหประชาชาติได้กำหนดความหมายไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของบรรดาแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ในมาตรา 2 ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งจะถูกว่าจ้างให้ทำงาน กำลังถูกว่าจ้าง หรือเคยถูกว่าจ้างให้ทำงาน โดยได้รับค่าตอบแทนในรัฐที่ตนไม่ได้เป็นคนชาตินั้น
นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้เรียกเปรียบเปรยแรงงานข้ามชาติ อย่างคำว่า ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ ตามนิยามความหมายของลัทธิมาร์กซิสต์ (Marxism) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ทางชนชั้น ระหว่างชนชั้นแรงงานกับชนชั้นนายทุนในระบอบทุนนิยม ที่กำหนดให้ชนชั้นแรงงานเป็นเพียงหนึ่งในพลังการผลิตที่สำคัญ ร่วมกับ ทุน เครื่องมือ และที่ดิน
หรืออีกคำที่น่าสนใจอย่างคำว่า ‘พลเมืองชั้นสอง’ ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Second Class Citizen ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ถูกเลือกปฎิบัติจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ถูกจำกัดสิทธิและโอกาสทางสังคม ถูกละเลยเพิกเฉย ไม่ได้สวัสดิการทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งส่วนใหญ่คำว่าพลเมืองชั้นสองจะใช้กับคนที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศหรือย้ายประเทศ แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านและอพยพเข้ามาในไทย หากพิจารณาจากสิทธิและโอกาสที่ได้รับ อาจเรียกได้ว่าพวกเขาเป็น ‘พลเมืองชั้นสาม’ เสียด้วยซ้ำ
เพราะ ‘ข้ามชาติ’ จึงถูกชาติ ‘มองข้าม’
แม้คำว่าแรงงานต่างด้าวจะเป็นคำที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และคำว่าแรงงานต่างด้าวกับแรงงานข้ามชาติจะมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่สองคำนี้กลับแบ่งแยกชนชั้นและการเลือกปฎิบัติของคนไทยได้อย่างชัดเจน คงไม่มีใครเรียกแรงงานที่มาจากประเทศแถบยุโรป ผิวขาว ผมทอง ที่มาทำหน้าที่สอนหนังสือในไทยว่าครูต่างด้าว ส่วนใหญ่ก็จะเรียกว่าครูต่างชาติทั้งนั้น แต่คนเข็นผักในตลาด หรือคนงานในแคมป์ก่อสร้างที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว และกัมพูชา กลับถูกเรียกว่าแรงงานต่างด้าว ทั้ง ๆ ที่เป็นแรงงานข้ามชาติเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิด้านแรงงานกว่า 15 องค์กร จึงมีแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น ‘แรงงานข้ามชาติ’ เพื่อเป็นการลดอคติ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย
ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่อพยพมาในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ลาว และกัมพูชา มากกว่าร้อยละ 90 เป็นชาวเมียนมาที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พม่า มอญ ทวาย คะฉิ่น คะยา ไทยใหญ่ อาระกัน กระเหรี่ยง ปะหล่อง ปะโอ ลาหู่ อาข่า ฯลฯ มีทั้งแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ ทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน
ความหวังของเหล่าแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยคือต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต แต่หลายคนกลับต้องผิดหวัง เพราะภาครัฐของไทยนั้นมองข้ามการมีอยู่ของพวกเขา ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงพอเมื่อเทียบกับแรงงานไทย
ขณะที่นายจ้างส่วนหนึ่งก็ยังมองข้ามความสำคัญของแรงงานเหล่านี้ ทั้งที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเอง โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายในการว่าจ้างแรงงาน ทำให้แรงงานเหล่านี้จำใจต้องยอมทำงานด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจสิทธิที่ตนเองมี ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาที่ตามมา เช่น การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การกดขี่แรงงาน และอาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ได้
‘เด็กข้ามชาติ’ ผู้ถูกละเลย
อีกสิ่งที่ถูกมองข้ามหรือละเลย คือ ‘เด็กข้ามชาติ’ หรือลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่อพยพตามครอบครัวมาอยู่ในประเทศไทย หากกล่าวว่าเด็กคือเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าที่พร้อมเติบโตกลางป่าใหญ่ ลูกของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้คงเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ขาดการรดน้ำ พรวนดิน ไม่มีโอกาสได้เติบโตในป่าเหมือนเด็กไทยในวัยเดียวกัน
‘เอ’ แรงงานข้ามชาติหญิงชาวเมียนมาวัย 53 ปี เล่าว่าเธอกับสามีและลูกสองคนมาอยู่ที่ประเทศไทยได้ประมาณ 4 – 5 ปีแล้ว จริง ๆ แล้วเอมีลูกสามคน แต่ลูกอีกคนหนึ่งอาศัยอยู่กับยายที่ประเทศเมียนมา โดยเอและสามีทำงานเป็นลูกจ้างโรงเก็บของเก่า ได้ค่าตอบแทนเป็นรายวัน ประหยัดหน่อยก็พอเหลือเก็บส่งกลับไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิด
เออาศัยอยู่บ้านเช่าแห่งหนึ่งในเขตบางขุนศรี กรุงเทพมหานคร เธอบอกว่าตอนที่เธอและสามีไปทำงาน ลูกทั้งสองคนก็จะวิ่งเล่นอยู่แถว ๆ บ้านเช่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเก็บของเก่าที่เธอทำงานมากนัก บางทีก็วิ่งเล่นกับหลานของเจ้าของบ้านเช่า หรือบางทีก่อนจะถึงวันพระ คนแก่แถวนั้นก็จะจ้างลูกสาวคนโตให้ไปทำความสะอาดศาลาวัด
เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่ให้ลูกไปโรงเรียน คำตอบที่ได้จากเอเป็นเหตุผลให้ชวนคิดไม่น้อย “ไม่รู้ที่ไหนเรียนได้ ถึงพาไปก็คงได้เรียนไม่มากหรอก” และเมื่อถามว่า รู้ไหมว่าลูกสามารถเข้าเรียนโรงเรียนในเมืองไทยได้ คำตอบของเอก็คือ “ไม่รู้”
ไม่เพียงแต่เอที่ไม่รู้ แม้แต่เจ้าของบ้านเช่าที่ช่วยติดต่อประสานงานให้เราได้พูดคุยกับเอ และนั่งอยู่ข้าง ๆ เอในระหว่างการสัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกของเอ รวมไปถึงเด็กข้ามชาติคนอื่น ๆ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนไทยได้
ปัจจุบันประเทศไทยรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้เด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย รวมถึงไม่มีหลักฐานการแสดงตน สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยได้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา ทั้งการรับเข้าเรียน ลงทะเบียนนักเรียนนักศึกษา และการออกหลักฐานทางการศึกษา พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่กลุ่มบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า มีเด็กและแรงงานข้ามชาติอีกเท่าไหร่ที่ถูกมองข้าม และต้องเสียโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ด้วยความไม่รู้ ?
เมื่อแรงงานข้ามชาติกลายเป็นจำเลยสังคม
ในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาดและส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกนั้น แรงงานข้ามชาติก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน หลายคนอาจไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในไทยได้อย่างชัดเจน
หากยังจำกันได้ ในช่วงปลายปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่แพกุ้งตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ประกอบอาชีพรับจ้างในตลาด ทางภาครัฐจึงออกมาตรการปิดล้อมตลาดกลางกุ้ง รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะ สถานประกอบการ อาทิ สนามกีฬา สนามมวย โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและเชื่อมโยงกับแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งประกาศให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานขั้นสูงสุด
มาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่นำมาบังคับใช้ ส่งผลให้แรงงานไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้ และเมื่อตลาดซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพและสร้างรายได้ถูกปิด ก็ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้มีสถานะว่างงานในทันที โดยที่นายจ้างก็ยังไม่มีการจ่ายชดเชยรายได้ บ้างก็ถูกเลิกจ้าง ส่วนตัวแรงงานเมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่สามารถย้ายนายจ้างได้โดยง่าย
เมื่อรายได้ไม่มี แต่ชีวิตยังต้องกินต้องใช้อยู่ แรงงานเหล่านี้จึงต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางโรคระบาดโดยที่ไม่มีใครเหลียวแล กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และในอีกด้านยังถูกมองว่าเป็นผู้สร้างปัญหา จากการเป็นต้นตอที่ทำให้การระบาดของโรครุนแรงขึ้นอีกด้วย
เอเล่าในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ว่า ช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดแพกุ้งมหาชัย เธอเองก็มีเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่นั่น จึงรู้สึกเป็นห่วงและสงสารเพื่อนแรงงานที่ตลาดมหาชัยมาก เพราะตอนเกิดการระบาด สังคมเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแรงงานเมียนมาอย่างรุนแรง และทำให้ภาพของแรงงานเมียนมาในสายตาของคนในสังคมเป็นไปในทางลบ
นอกจากนี้การที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกับเอ ทำให้เธอเกิดความกังวลว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย แม้เธอไม่ได้เป็นแรงงานที่ตลาดแพกุ้ง ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร แต่เธอยอมรับว่าในช่วงนั้นรู้สึกอึดอัดใจไม่น้อย เพราะกลัวจะถูกคนในชุมชนเหมารวมว่าเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าเจ้าของบ้านเช่าะยังคงใจดี ยังคงปฎิบัติและพูดคุยกับเธอเป็นปกติก็ตาม
‘อคติ’ สิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องพบเจอ
“พม่าตีกรุงแตกอีกแล้ว”
“เสียกรุงครั้งที่ 3”
“ปืนใหญ่ยิงเข้ามาที่สมุทรสาครแล้ว รอบนี้เป็นกระสุนอัดโควิด”
ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นของผู้คนที่แสดงออกต่อเหตุการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดที่แพกุ้งตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
.
หากตั้งคำถามจากเหตุการณ์นี้ว่า ประโยคดังกล่าวข้างต้น ผู้พูดรู้สึกอย่างไร ? คำตอบที่ได้อาจเป็นว่า ไม่รู้สิ ฉันไม่ได้เป็นคนพูดนี่ ฉันไม่รู้สึกอะไรหรอก หรือบางคนอาจบอกว่าก็แค่คำพูดตลก ๆ ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไร
แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่เป็นคำถามว่า แล้วคนฟังล่ะ จะรู้สึกอย่างไร ? เชื่อว่าคนฟังหลายคนเมื่อได้ฟังประโยคแบบนี้แล้วก็คงน้ำตาตกใน เพราะความคิดเห็นมากมายที่สังคมออนไลน์พูดคุยกันอย่างสนุกนั้น ล้วนแต่เป็นการผลักไสให้แรงงานข้ามชาติต้องตกเป็นจำเลยผู้สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม โดยลืมนึกไปว่าการต้องเผชิญับโรคระบาดร้ายแรงนั้นก็เป็นความทุกข์มากพออยู่แล้ว แต่นี่กลับต้องถูกคนอื่นต้องข้อรังเกียจเหยียดหยาม เพียงเพราะถูกเหมารวมว่าเป็นต้นเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หรือแม้แต่ความคิดเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ที่เอ่ยเอาไว้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ว่าการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเพราะมีแรงงานที่ลักลอบหนีกลับบ้านเกิด แล้วเมื่อกลับเข้ามาทำงานในประเทศอีกครั้งก็นำเชื้อโรคมาด้วย ถึงจะเป็นการให้ข้อมูลตามที่ได้รับมา แต่ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ในสายตาของภาครัฐ แรงงานข้ามชาติเป็นเพียงแค่เครื่องจักรหรือสัตว์เศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งที่พวกเขาเหล่านี้เป็นกาลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอยู่
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้สร้างอะไรให้กับประเทศของเราไว้มากมาย แต่เมื่อเทียบกับสิทธิและการยอมรับที่พวกเขาได้รับแล้ว บางทีเราอาจจจะต้องตั้งคำถามว่า หลายๆ อย่างที่เราปฏิบัติต่อพวกเขานั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง ?
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : เอมพิกา ศรีอุดร
ภาพ : ฝนริน กำลังมาก
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คนเราจะมีวันพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน? หากชีวิตเป็นสิ่งชั่วคราว ไม่ได้ยืนยาวเหมือนรัฐบาลลุงตู่ วูบวาบเพียงชั่วครู่ไม่ได้เลิศหรูเหมือนในนิยาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปุบปับแล้วดับสูญไป ไม่ทันได้เตรียมใจ ความตายก็มาพรากจากเรา
ย้อนกลับไปในอดีต มนุษย์ยุคแรกไม่ได้แบ่งเครื่องแต่งกายออกตามเพศสภาพ ใช้เพียงหนังสัตว์ ฟาง หรือใบไม้ มาทำเป็นลักษณะคล้ายกระโปรง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันสัตว์ต่าง ๆ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการทอผ้า เสื้อผ้าจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีอารยะมากขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปทรงกระโปรงแบบเดิม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมกรีก โรมัน ที่ผู้ชายยังคงใส่กระโปรง โดยจะใส่เป็นผ้าคลุมหลวม ๆ ยาวตลอดตัว ไม่ได้แบ่งข้างเป็นขาซ้ายขาขวา ง่ายต่อการตัดเย็บและสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
สภาพความเป็นอยู่ของคนในชนบทที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งจากความยากจน หรือการขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา ทำให้การศึกษาซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายวงกว้างออกไปมากยิ่งกว่าเดิม