เมื่อพูดถึง ‘ผู้สูงอายุ’ ภาพในความคิดของหลาย ๆ คนคงนึกถึงคนที่เกษียณอายุจากการทำงาน หรือคุณตาคุณยายอยู่กับบ้านเลี้ยงหลาน ชีวิตของคนเหล่านี้ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวไปอย่างช้า ๆ และดูเหมือนจะห่างไกลจากความกระตือรือร้นหรือกระฉับกระเฉงที่จะทำสิ่งต่าง ๆ
แน่นอนว่าอายุและสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามวัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่พวกเขาไม่ได้ทำงานหรือใช้ความรู้ความสามารถที่ตัวเองเคยมี กลายเป็นคนที่ต้องอยู่กับบ้านเฉย ๆ ก็ทำให้หลายคนมีภาพจำต่อพวกเขาเช่นนั้น และพาลคิดไปว่าคนเหล่านี้แค่ดูแลสุขภาพร่างกายไม่ให้เจ็บป่วยจนเป็นภาระของผู้อื่นได้ก็ถือว่าดีมากแล้ว
แต่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ไม่ได้คิดเช่นนั้น พร้อมทั้งพยายามจะลบภาพจำเก่า ๆ ที่ทุกคนคุ้นเคย ด้วยการรวมตัวผู้ใหญ่วัยเกษียณที่ยังใจเกินร้อยมาร่วมกันแสดงความสามารถ ให้คนในสังคมได้เห็นถึงไฟแห่งชีวิตที่ยังลุกโชนของคนเหล่านี้ไปด้วยกัน บนพื้นที่ที่มีชื่อว่า ‘เกษียณมาร์เก็ต’
เมื่อไทยก้าวสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’
ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของ ‘เกษียณมาร์เก็ต’ มีข้อมูลบางอย่างที่จะช่วยอธิบายว่า เรื่อง ‘ผู้สูงอายุ’ นั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รวบรวมสถิติจำนวนประชากรโลกสถิติข้อมูลในปี 2019 พบว่าในเวลานั้นโลกมีประชากรประมาณ 7,713 ล้านคน และประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนสูงถึง 1,016 ล้านคน โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปถึงระดับ 1 ใน 5 ของประชากรโลก
สำหรับประเทศไทย ในช่วงปี 2562 มีอัตราจำนวนการเกิดลดลงเหลือเพียง 6.1 แสนคน ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุวัยปลาย อายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 1.3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่งานวิจัยของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์’ โดยจะมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น ‘สังคมสูงอายุระดับสุดยอด’ ที่มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
ถ้าลองหันมาดูที่จังหวัดเชียงใหม่บ้าง ถือได้ว่าเชียงใหม่เป็น 1 ใน 3 ของจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่งข้อมูลในปี 2564 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้รวบรวมสถิติประชากรทั้งหมดในเชียงใหม่ พบว่ามีผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 358,147 คน คิดเป็น 35% ของประชากรทั้งหมด
ตัวเลขเหล่านี้คือคำตอบว่า ทำไมสังคมไทยควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องผู้สูงอายุให้มากขึ้น
สร้าง ‘พื้นที่’ ให้คนสูงวัยได้ปล่อยของ
‘เกษียณมาร์เก็ต’ คือตลาดนัดที่จัดทุกสุดสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สามของเดือน ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ (โอลด์ เชียงใหม่) เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่
แต่เดิมศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่จะมีกิจกรรมขันโตกในช่วงเย็นเท่านั้น แต่ทีมงานโอลด์ เชียงใหม่อยากให้พื้นที่ตรงนี้มีกิจกรรมในช่วงเช้าด้วย จึงใช้โอกาสครบรอบ 50 ปี และจากการที่จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มาสร้างตลาดของคนวัยเกษียณ จนกลายมาเป็น “เกษียณมาร์เก็ต พื้นที่สร้างสุขของคนรุ่นใหญ่” หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ สถานที่แห่งนี้เป็นตลาดที่ให้พ่อค้าแม่ขายวัยเกษียณได้มาสำแดงฤทธิ์และปล่อยของกันนั่นเอง
คุณภูมิ – ภูริภัทร เหมือนเดช เจ้าหน้าที่ของเกษียณมาร์เก็ต เล่าถึงการก่อตั้งตลาดของคนรุ่นใหญ่แห่งนี้ว่า เกิดจากการที่ทีมงานของโอลด์ เชียงใหม่สังเกตเห็นพ่อแม่ของตนเองว่า ถึงแม้จะมีอายุมากแล้ว แต่พวกเขายังคงทำกิจกรรมที่ย้อนวัยและใช้ชีวิตอย่างเต็มที่อยู่ ไม่ว่าจะชอบถ่ายรูปตามสถานที่ท่องเที่ยว ส่งภาพในไลน์กลุ่ม หรือการหัดเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อเอาไว้พูดคุยกัน ทางทีมงานจึงเกิดความคิดว่า สิ่งที่วัยเกษียณไม่มีเหมือนวัยรุ่นคือพื้นที่ที่จะให้พวกเขาได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา การมีพื้นที่ตรงนี้สำหรับผู้สูงอายุ จะทำให้พวกเขาได้กลับมาพบปะและมาทำกิจกรรมร่วมกัน
ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลหนึ่งก็คือ ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่เองก็เป็น 1 ใน 3 ของจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด การที่ศูนย์วัฒนธรรมีอายุ 50 ปี ก็หมายความว่าคนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ พื้นที่ตรงนี้ก็ต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไปเช่นกัน เกษียณมาร์เก็ตจึงเป็นตลาดที่อยากให้คนวัยเกษียณที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ศูนย์วัฒนธรรมได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่ปล่อยของ และแสดงศักยภาพของผู้สูงอายุที่ยังมีไฟในการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม
คุณภูมิเล่าว่าเกษียณมาร์เก็ตได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม จากพลังกลุ่มไลน์ของผู้สูงอายุที่แชร์ข้อมูลการเปิดรับสมัครพ่อค้าแม่ค้าวัยเกษียณออกไปอย้างกว้างขวาง โดยที่ทางทีมงานไม่ได้โปรโมทอะไรเลย “เป็นอะไรที่เกินคาดมาก พวกเราทำโพสต์โปรโมทไปว่าหาคนสูงอายุที่อยากขายของมาลงในตลาด แล้วมีคนสูงอายุกลุ่มหนึ่งที่เล่นเฟซบุ๊กแชร์โพสต์นี้ลงกลุ่มไลน์ของเขา หลังจากนั้นก็มีคนกระหน่ำโทรมาโดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย”
‘ตลาด’ ของคนทุกวัย
เมื่อได้ยินชื่อ ‘เกษียณมาร์เก็ต’ หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยว่าตลาดนี้ให้เฉพาะผู้สูงอายุมาจับจ่ายและค้าขายเท่านั้นหรือไม่ ที่ แต่ความจริงแล้ว ทางทีมงานยังเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าที่ยังไม่เกษียณอายุมาค้าขายได้ด้วย แต่จะจำกัดจำนวนร้าน เพื่อให้ยังคงแนวทางตลาดของคนวัยเกษียณอยู่
ก่อนจะก่อร่างสร้างเกษียณมาร์เก็ต คุณภูมิกล่าวว่าทีมงานต้องทำการเก็บข้อมูลก่อนว่าจะเข้าหาคนสูงวัยด้วยวิธีไหน การทำงานร่วมกันควรจะเป็นอย่างไร รวมทั้งสัมภาษณ์เพื่อจะได้รู้ว่าไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเป็นอย่างไร ในการตัดสินใจในเรื่องกิจกรรมหรือนโยบายใหม่ ๆ ของตลาด ทางทีมงานก็ให้คุณลุงคุณป้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำหรับเขาจริง ๆ “การบริหารงานที่นี่ ไม่ใช่แค่พวกเราที่ตัดสินใจ แต่คุณลุงคุณป้าในตลาดก็ช่วยในสิ่งที่เราทำพลาด เราเลยรับฟังพวกเขาและทำตามในสิ่งที่เขาแนะนำด้วย”
ในส่วนของผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยนั้น ทางทีมงานคาดหวังว่าอยากให้ที่นี่เป็นตลาดที่คนจากสองช่วงวัย คือวัยเกษียณและวัยรุ่นได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันโดยมีตลาดเป็นตัวกลาง เพราะพ่อค้าแม่ค้าวัยเกษียณในตลาดแห่งนี้ล้วนพร้อมโชว์ศักยภาพที่เขาสะสมมาอย่างยาวนานให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น
เกษียณมาร์เก็ตจะจัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สามของเดือน ตั้งแต่เวลา 08:00-14:00 น. ร้านค้าทั้งหมดในตลาดจะมีประมาณ 60 ร้าน แบ่งเป็น 4 โซน คือ ‘โซนของกิน’ อาหารพื้นเมืองสูตรต้นตำรับสูตรคุณลุงคุณป้า ‘โซนงานคราฟต์’ งานฝีมือที่สร้างสรรค์อย่างประณีต ผลิตจากช่างท้องถิ่นและใช้วัสดุในชุมชนเป็นหลัก ‘โซนของใช้’ รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อความต้องการของลูกค้า และ ‘โซนเสื้อผ้า’ ที่เป็นงานฝีมือทั้งหมด นอกจากนี้ที่เกษียณมาร์เก็ตยังมีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุและคนที่มาตลาดได้เข้าร่วมด้วย
อายุเป็นเพียงตัวเลข
จากร้านค้าที่อยู่มากมายในเกษียณมาร์เก็ต เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน 3 ร้าน ที่ตัดสินใจว่าแม้จะเป็นผู้สูงวัย แต่จะไม่อยู่ที่บ้านเฉย ๆ หากขอมาแสดงฝีมือและความสามารถของตัวเองที่นี่
เริ่มกันที่ร้าน ‘วุ้นยายมาลัย’ เจ้าอร่อยหนึ่งเดียวในตลาด ที่ใครไปช้ารับรองว่าอดกินเพราะขายดีและหมดไวมาก คุณยายน้อย – วราภรณ์ ไชยวงศ์ญาติ เจ้าของร้านอายุ 72 ปีแล้ว แต่ยังคงแข็งแรงและอารมณ์ดี วุ้นของคุณยายเป็นสูตรลับของครอบครัวที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น มีเอกลักษณ์ที่กลิ่นหอมมะพร้าวและใบเตยอ่อน ๆ สีสันที่สวยงามจากสีธรรมชาติ และตัววุ้นลวดลายดอกบัวน่ารับประทาน
ร้านต่อมาคือร้านจักสานของป้าแต๋น – แทนเทพิน เหลียงชัยรัตน์ วัย 67 ปี ผู้เคยเป็นครูพิเศษสอนการจักสานล้านนาให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วเชียงใหม่มาก่อน งานทั้งหมดที่ป้าแต๋นนำมาจำหน่ายนั้นล้วนเป็นงานฝีมือ 100% มีทั้งงานจักสาน เสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องประดับล้านนาหลากหลายรูปแบบ และสินค้าจากนักเรียนบนดอยในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในจังหวัดตาก เพื่อเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือให้นักเรียนมีรายได้ นอกจากนี้ป้าแต๋นยังสอนวิธีจักสานให้กับลูกค้า รวมถึงเปิดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้กับคนที่สนใจเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
ส่วนร้านสุดท้ายที่เราได้พูดคุย คือร้านอุปกรณ์แก้ปวดเมื่อยของคุณป้าเรณู อุปรานุเคราะห์ อดีตคุณครูที่เปิดร้านรวบรวมอุปกรณ์แก้ปวดเมื่อยและผลิตภัณฑ์ยาดมยาหอมที่ช่วยให้สดชื่น อุปกรณ์ของคุณป้าเรณูนั้นล้วนทำด้วยมือทั้งหมด แถมคุณป้ายังทำการส่งออกสินค้าออกไปต่างประเทศด้วย ใครที่กำลังหาอุปกรณ์แบบไหนก็สามารถนำภาพมาให้คุณป้าดูได้เลย รับรองว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะคุณป้าสามารถเนรมิตอุปกรณ์นวดให้ทุกคนได้ทุกรูปแบบ
จากบรรยากาศที่ได้ไปสัมผัส และเรื่องราวที่ได้ฟังจากผู้สูงวัยที่มารับบทบาทพ่อค้าแม่ค้าในตลาด เรารู้สึกประทับใจในตัวของผู้สูงอายุทุกคนที่มารวมตัวกันที่ตลาดแห่งนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้สูงอายุอีกมากที่ยังมีไฟในการใช้ชีวิต และกระตือรือร้นที่จะกันแสดงความสามารถของพวกเขาให้โลกได้เห็นว่าพวกเขานั้นยัง ‘มีของ’
เช่นเดียวกับความประทับใจที่มีต่อเกษียณมาร์เก็ต ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ตลาด หากเปรียบเสมือนคบเพลิงที่ช่วยจุดประกายไฟให้กับผู้สูงวัย ว่าชีวิตหลังเกษียณไม่ได้มีเพียงการอยู่บ้านเลี้ยงหลาน แต่และพวกเขายังสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย
เรื่อง : ธีรดา จิ๋วใสแจ่ม
ภาพ : Facebook Page : เกษียณมาร์เก็ต – The Senior Market
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำหนดให้ ‘โรคเอดส์’ เป็นวาระแห่งชาติ และมีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พศ. 2573 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นอีกในปีดังกล่าว
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เสพสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะ Instagram Twitter หรือ TikTok จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้คนให้อิสระกับการแต่งตัวมากขึ้น ไม่ว่าใครจะมีรสนิยมหรือความชอบแบบไหน ก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สไตล์ของตัวเอง และแสดงออกออกมาได้อย่างสนุกสนานผ่านการแต่งตัว
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่อยากจะย้ายประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนแรงงาน