ข้อมูลจาก ‘รายงานความสุขโลก’ หรือ World Happiness Report ประจำปี 2565 ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่าอันดับความสุขของคนไทยตกอันดับลงไปอยู่ที่อันดับ 61 จากเดิมที่อยู่ที่อันดับ 54 ในปี 2564
เมื่อดูอันดับของประเทศไทยจากรายงานดังกล่าว ซึ่งเป็นการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก และเผยแพร่ในวันความสุขสากล (International Day of Happiness) หรือวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี จะพบว่าความสุขของคนไทยมีอันดับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และเมื่อนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดคือสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 27 ส่วนประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในภูมิภาคคือเมียนมาร์ อยู่ในอันดับที่ 126
น่าสนใจว่าคะแนนความสุขของคนไทยมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ ความสุขที่ลดลงอาจกำลังสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะบางอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น มีปัจจัยหลายประการที่สามารถส่งผลต่อความรู้สึกต่าง ๆ ของคน โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสุขมีหลายประการ ทั้งความสุขกายสุขใจ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดี เรื่องของความสัมพันธ์ การศึกษา เสรีภาพทางการเมือง ความเท่าเทียมทางเพศและสังคม สภาพเเวดล้อมที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ มุมมอง ทัศนคติ ค่านิยมเเละรวมไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ
ตั้งแต่ปี 2562 โลกเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านสุขภาพครั้งใหญ่ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือโรคโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 621 ล้านคน และผู้เสียชีวิตมากถึง 6.5 ล้านคน รวมทั้งสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อชีวิตคนอย่างมหาศาล ไม่เพียงแค่ด้านร่างกายแต่รวมถึงจิตใจด้วย ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โรคระบาดค่อย ๆ คลี่คลาย เรื่องสุขภาพจึงกลายเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพราะเริ่มตระหนักกันแล้วว่าหากสุขภาพร่างกายย่ำแย่ ความทุกข์ย่อมตามมา
‘สุขภาพกาย’ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ เพราะถ้าร่างกายของเราไม่แข็งแรง ก็จะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ ลองจินตนาการว่าเราต้องการออกไปใช้ชีวิต แต่ร่างกายไม่เอื้ออำนวย การต้องไปพบแพทย์เป็นประจำทุกเดือนเพราะมีโรคประจำตัว คือหนึ่งในสาเหตุที่จะทำให้เราเป็นทุกข์เพราะวิตกกังวลเรื่องความเจ็บป่วยของตัวเอง
ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพทางกายของคนเราเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม พันธุกรรม การดูแลตัวเอง การใส่ใจอาหารการกิน หรือเกิดขึ้นจากพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันของเรา ยกตัวอย่างเช่น การโหมทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การดื่มชาหรือกาแฟมากกว่า 2 แก้วต่อวัน การรับประทานอาหารจานด่วนหรือของทอดที่มีไขมันมากเกินความจำเป็น การทานอาหารเค็มติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา คือกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคไต รวมไปถึงโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในวัยกลางคนถึงวัยชรา แต่ในปัจจุบันคนหนุ่มสาวหรือคนวัยทำงานก็เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
หนึ่งในโรคที่เข้าค่ายตามพฤติกรรมเสี่ยงที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ก็คือ ‘ความดันโลหิตสูง’ ซึ่งเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา หากไม่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็อาจจะไม่รู้สาเหตุของโรคนี้ ว่าเกิดจากการทานอาหารเค็มจัด พฤติกรรมดื่มสุรา สูบบุหรี่ ผลข้างเคียงของยาบางชนิด และที่สำคัญคือ ความเครียด
อีกโรคคือ ‘เบาหวาน’ เพราะอาหารการกินของบ้านเรามีหลากหลายรสชาติ หลากหลายรูปแบบ การทานแป้งและน้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสะสมได้ อีกทั้งเบาหวานยังสามารถติดต่อทางพันธุกรรมได้ด้วย โรคนี้อันตรายมากเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ทั้งโรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคในช่องปาก ปัญหาเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็น ปัญหาเท้า แผลที่เท้า และความเสียหายต่อเส้นประสาท
ทั้งสองโรคที่ยกตัวอย่างมานั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การโหมทำงานอย่างหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้ร่างกายล้าอ่อนแรง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงเเล้ว ยังส่งผลต่อเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรือระบบหัวใจ ที่การนอนน้อยไม่เพียงพอทำให้ความดันเลือดสูงกว่าปกติ และทำให้ความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงขึ้นกว่าปกติถึง 2 เท่า
เช่นเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นผลต่อสมองและระบบประสาท กรณีร้ายแรงคือทำให้เกิดอาการความจำเสื่อม ผลต่อระบบทางเดินอาหารและตับ ทำให้เป็นโรคกระเพาะอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผลต่อตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนอักเสบ ส่งผลให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ไข้ขึ้นสูง และอาจทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก จะทำให้อัตราการเต้นและการบีบตัวของหัวใจไม่ปกติ อีกทั้งแอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดขยายตัวและทำให้ไขมันในเลือดสูง มีผลให้เลือดแข็งตัวง่าย ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ง่าย และอาจรุนแรงจนถึงระดับเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือพิการตลอดชีวิต
นอกจากสุขภาพกายที่เราต้องใส่ใจแล้ว ‘สุขภาพใจ’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน สาเหตุที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ไม่ดีมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้คน คือไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ รวมไปถึงโรคทางพันธุกรรมที่ติดตัวเราตั้งแต่เกิด ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นปัจจัยหลักที่พบบ่อย และมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้คนมากที่สุด
โดยเรื่องแรกคือไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตของผู้คน การใช้ชีวิตในปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต เนื่องจากความทันสมัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนในปัจจุบันใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่การใช้ความสะดวกสบายเหล่านี้ไม่เป็นก็ทำให้เกิดผลเสียตามมา ลองสังเกตคนใกล้ตัวหรือคนที่เรารักในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง ก็จะเห็นว่าทุกวันนี้กลายเป็นสังคมก้มหน้ากันไปหมดแล้ว
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาส่วนมากไปกับโทรศัพท์มือถือ อ้างอิงจากสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก บางคนอาจมองว่าถ้าเป็นยุคสมัยนี้คงเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสพติดการเล่นมือถือเป็นภัยที่ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า โนโมโฟเบีย หรือ โรควิตกกังวล
ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าการเสพติดมือถือส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนเรา ได้แก่ ‘ภาวะซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก (Facebook Depression Syndrome)’ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเต็มไปหมด แล้วเกิดการเปรียบเทียบกับตัวเอง จนเกิดเป็นความรู้สึกไร้ค่าและเป็นต้นเหตุของโรคดังกล่าว
อีกตัวอย่างหนึ่งคืองานวิจัยของศาสตราจารย์ Jean M. Twenge จาก Santiago State University ที่ระบุว่าคนที่ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือในการเล่นโซเชียลมีเดีย จะตกอยู่ในสภาวะที่มีความสุขน้อยกว่า เมื่อเทียบกับบุคคลในวัยเดียวกันที่ใช้เวลากับการปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้ากันจริง ๆ อีกทั้งยังทำให้เวลานอนลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาวะทางอารมณ์ และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้
นอกจากการเสพติดการเล่นมือถือที่มีผลต่อสุขภาพจิตใจแล้ว สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญที่สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้คนเช่นกัน ย้อนไปเมื่อครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 จากรายงานอัตราการฆ่าตัวตายจากกรมสุขภาพจิต ตั้งแต่ปี 2540 – 2563 พบว่าในปี 2542 มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด ซึ่งปีดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตต้มยำกุ้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุดเท่าที่คนไทยเคยประสบมา กลายเป็นผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนมากมายที่นำไปสู่การปลิดชีวิตตนเอง
หรือวิกฤตการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งมีผลต่อสุขภาพจิตจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย รวมทั้งยังส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอันดับ 1 ที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดในอาเซียน
โดยข้อมูลปี 2562 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การฆ่าตัวตายของไทยรายปีอยู่ที่ 14.4 คนต่อ 100,000 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยในระดับโลกอยู่ที่ 10.5 คนต่อ 100,000 คน ขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ยอดรวมอยู่ที่ 2,551 คนภายในครึ่งปีแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562
อีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คน คือโรคที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า เดิมเชื่อกันว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เมื่อเด็กโตขึ้นจะป่วยเป็นโรคจิตเภท แต่ปัจจุบันทราบแล้วว่าความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง และเชื่อว่าสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติของระบบในร่างกาย ซึ่งมาจากพันธุกรรม ระบบสารเคมีในสมอง และความผิดปกติอื่น ๆ ในสมอง
ในเรื่องของพันธุกรรม จากการศึกษาพบว่า หากติดตามคนทั่วไป 100 คน จะพบว่ามีผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท 1 คน และหากติดตามพี่น้องของผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทไปเรื่อย ๆ 100 คน จะพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท 8 คน จะเห็นว่ายิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคจิตเภทมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกรรมพันธุ์ไม่ได้เป็นสาเหตุไปทั้งหมด
ส่วนเรื่องของระบบสารเคมีในสมอง เกิดจากสารเคมีในสมองที่ชื่อว่าโดปามีน (Dopamine) ในบางบริเวณของสมองมีการทำงานมากเกินไป การรักษาคือการใช้ยาไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารโดปามีน ขณะที่สาเหตุของความผิดปกติอื่น ๆ ในสมอง พบว่าจะมีผู้ป่วยโรคจิตเภทจำนวนหนึ่งที่มีช่องในสมอง (Ventricle) โตกว่าปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาการด้านลบเป็นอาการเด่น บางการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าลดลง และการทำงานของสมองส่วนหน้ามีไม่เต็มที่ ดังนั้นความผิดปกติของสมองเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สุขจิตมีความผิดปกติ
แม้ว่าสุขภาพจะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความสุข แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ย่อมทำให้เจ้าของกายและใจรู้สึกปลอดโปร่ง ไม่มีเรื่องสุขภาพให้ต้องห่วงกังวล ดังนั้นการหันมาดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเองรวมทั้งคนรอบข้าง จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความสุขในชีวิต เพราะความสุขและสุขภาพนั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและสามารถส่งผลต่อกันได้
เรื่อง : โยธวัชร นุสุริยา, จิตติญาภรณ์ แสงหาญ, เกตุปัญญา ยั่งกุลมิ่ง
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“เหมือนโลกเรามียักษ์ใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ทุกคนกลัว แล้วอยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งไปกรีดข้อเท้ายักษ์ ทำให้ทุกคนเห็นว่ายักษ์ก็เลือกออกได้ ถ้ายักษ์เลือดออกได้ ก็หมายความว่ายักษ์ก็ล้มได้นั่นเอง นี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นการเยือนไต้หวันของเพโลซีมันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่มันยิ่งใหญ่กับโลกด้วย”
สุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายคนเราก็มักจะเดินสวนทางกับขวบปีของชีวิต ยิ่งอายุมากขึ้น การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็เสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ จากอดีตที่เคยวิ่งไกลหลายกิโลเมตรก็แทบจะไม่รู้สึกอะไร แต่ปัจจุบันแค่ขึ้นบันไดสองชั้นก็อาจจะเหนื่อยหอบแล้ว
ยามที่คนเราต้องเผชิญกับปัญหาอันเกิดจากความไม่แน่นอนของการมีชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเงินอันเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพนั้นหายากขึ้นทุกวัน ไหนจะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความทุกข์ ความเหนื่อยล้าจากสารพัดปัญหา ต่อให้ใจสู้แค่ไหนก็คงต้องมีวันที่รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจกันได้ทุกคน