“รสสัมผัสนุ่มลิ้น กลิ่นคาวไม่มี ยิ่งสดยิ่งดี หอมหวานอร่อย”
นี่คือคำบอกเล่าของใครหลาย ๆ คนที่ชื่นชอบการทานเมนูอาหารดิบ ไม่ว่าจะเป็น ซอยจุ๊เนื้อ ตำกุ้งสด กุ้งเต้น หมึกช็อต หรือเมนูกึ่งสุกกึ่งดิบอย่างเมนูทะเลดองซีอิ๊ว และอีกสารพัดเมนูดิบที่ถูกรังสรรค์
ด้วยเอกลักษณ์รสชาติที่แตกต่างจากอาหารปรุงสุก หรือความเข้ากันได้ดีกับเครื่องจิ้มรสแซ่บ ทำให้เมนูอาหารดิบทั้งหลายเป็นที่ชื่นชอบ น่าลิ้มลอง และดูเหมือนจะเพิ่มระดับความแปลกใหม่ของอาหารเกินกว่าที่คิด จนฮิตติดเทรนด์อาหารน่าลอง ที่ใครต่อใครอาจได้เห็นผ่านสื่อโซเซียลมีเดียโดยคอนเทนท์ครีเอเตอร์สายกินทั้งหลาย กับการตั้งโต๊ะวางเมนูนี้นั่งทานให้คุณดู และเพิ่มความน่าลิ้มลองด้วยรีแอคชั่นการกิน ที่ดูราวกับว่าเมนูเหล่านี้เป็นมื้ออาหารที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมา
แต่รู้ไหมว่าเบื้องหลังความสดความอร่อยนั้น มีอะไรที่รอคุณอยู่บ้าง ?
ทั้งสดทั้งดิบ ความนิยมเต็ม 10
การรับประทานเมนูอาหารดิบในไทยนั้นมีมานาน อย่างเมนู ‘ซอยจุ๊’ ที่นำเนื้อวัวสด เลือด ตับ สไบนาง เพี้ยอ่อน มาหั่นแล้วรับประทานกับน้ำจิ้มที่เรียกว่าแจ่วขม หรือเมนู ‘ก้อยดิบ’ ที่นำเนื้อวัวสด ๆ คลุกกับเลือดและใส่เครื่องปรุงรส ซึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือดีวัว หรืออีกเมนูที่คุ้นเคยกันดีอย่าง ‘กุ้งเต้น’ กับการนำกุ้งฝอยมาทำเป็นยำ จนกลายเป็นเมนูอาหารที่มีรสชาติจี๊ดจ๊าดถูกใจคนมากมาย
นอกจากเมนูไทย ๆ คนไทยยังนิยมเมนูอาหารดิบของประเทศอื่น อย่าง ‘ซาชิมิ’ ที่นำเนื้อปลาชนิดต่าง ๆ เช่น แซลมอน ทูน่า มาแล่เป็นชิ้นบาง ๆ ขนาดพอดีคำ จิ้มกับโชยุกับวาซาบิ ให้รสชาติและความรู้สึกเป็นญี่ปุ่นแบบสุด ๆ และนับวันการสรรหาเนื้อสัตว์ใหม่ ๆ มากินแบบดิบ ๆ ก็ยิ่งแปลกใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซาชิมิปลาสไตล์ไทย ที่นำปลาน้ำจืดอย่างปลานิลเนื้อดิบ ๆ มาจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ด หรือเมนูสุดไวรัลบนโซเชียลมีเดียอย่าง ‘หมึกช็อต’ ที่นำหมึกสดตัวเล็ก ๆ จุ่มหัวลงไปในแก้วช็อตที่มีน้ำจิ้มซีฟู้ดอยู่ เวลารับประทานก็จะกัดบริเวณหัวก่อน ซึ่งเมนูนี้ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการทรมานสัตว์และอันตรายจากพยาธิด้วย
ความนิยมกินอาหารดิบเหล่านี้มีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยจากการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบของประชาชน พบว่าประชาชนร้อยละ 28 กินอาหารดิบอย่างน้อย 1 อย่าง และถ้าแบ่งเป็นอาหารดิบแต่ละประเภทจะพบว่า ประชาชนร้อยละ 22.2 นิยมกินอาหารทะเลดิบ เช่น ตำกุ้งสด ปลาหมึกช็อต ปลาแซลมอนซาซิมิ ยำปูทะเล ประชาชนร้อยละ 10.9 นิยมกินสัตว์น้ำจืดดิบ เช่น ยำ/ตำ/ก้อย กุ้งฝอย ปลาดิบ ปูดิบ หอยดิบ ประชาชนร้อยละ 7.3 นิยมกินเนื้อวัวดิบ เช่น ก้อยเนื้อ ซอยจุ๊ ก้อยมะนาว ลาบเลือด ส้มวัว และประชาชนร้อยละ 5.9 นิยมกินเนื้อหมูดิบ เช่น ก้อยหมู หลู้หมู แหนมหมู
อีกสิ่งที่พอจะสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมเมนูอาหารดิบ ก็คือร้านค้าที่ขายเมนูอาหารดิบที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป ตั้งแต่ตามตลาดนัดหรือข้างทางตามถนน การมีร้านค้าตั้งขายหลายร้านเช่นนี้ก็เท่ากับว่าต้องมีคนซื้อเป็นจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน
“กุ้งตายไม่ได้เลยค่ะ ต้องกุ้งเป็น ๆ แบบนี้เลย มันถึงจะหวาน”
ประโยคข้างต้นคือคำบอกเล่าจากแม่ค้าขายกุ้งเต้นแถวย่านสันติธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ร้านของเธอมีลูกค้าจะแวะเวียนเข้ามาซื้อกุ้งเต้นทั้งวัน วันหนึ่งขายได้หลายพันบาท ส่วนจำนวนกุ้งที่ขายได้ก็ประมาณเกือบ 10 กิโลกรัมต่อวัน แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนที่นิยมรับประทานกุ้งเต้นเป็นจำนวนไม่น้อยเลย
ถึงกุ้งเต้นและอาหารดิบอื่น ๆ จะเป็นเมนูอาหารโปรดของคนมากมาน แต่เบื้องหลังของอาหารเหล่านี้กลับแฝงไปด้วยอันตรายมากมาย ทั้งจากพยาธิในเนื้อสัตว์ หรือความไม่สะอาดของอุปกรณ์ภาชนะที่ใช้หั่นก่อนที่อาหารจะถูกจัดจานมาให้คุณรับประทาน
ระวัง ‘ภัยร้ายก่อโรค’ ที่อยู่ในอาหาร
อาหารต่าง ๆ นั้นให้ประโยชน์ แต่ถ้ากินมากเกินไปหรือไม่ถูกวิธี อาจจะเป็นอันตรายได้โดยไม่รู้ตัว เหมือนอย่างอาหารดิบที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก แต่ก็แฝงด้วยเชื้อโรค แบคทีเรีย และสารปนเปื้อน
หลังจากที่เรารับประทานอาหารสักอย่างมา เมื่อเวลาผ่านไปที่เร็วที่สุดประมาณสองถึงสามชั่วโมง หรือช้าที่สุดคือหนึ่งหรือสองวัน คุณจะรู้สึกปวดท้องแบบบิดเกร็งอย่างมาก เหมือนลำไส้กำลังบีบรัดกันอยู่ หลังจากนั้นคุณจะต้องวิ่งไปถ่ายหนักที่ห้องน้ำหลายรอบ จนเหนื่อย อ่อนแรง ร่างกายขาดน้ำ หรือบางคนก็อาจจะอาเจียนด้วย นี่เป็นอาการของ ‘อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)’
สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต โดยอาหารดิบมีเชื้อเหล่านี้อยู่ อย่างเช่น ‘เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella)’ เป็นแบคทีเรียที่พบมากในเนื้อสัตว์ดิบ สัตว์ปีก ไข่ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน ตะคริว หรือมีไข้ได้ นอกจากนี้ยังมี ‘เชื้ออีโคไล (E. coli)’ เป็นแบคทีเรียที่ปกติอาศัยอยู่ในลำไล้ของคนและสัตว์ มีชนิดที่ไม่ก่อโรคและก่อโรค โดยชนิดที่พบในเนื้อสัตว์ดิบจะเป็นชนิดที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือท้องร่วงได้
อีกโรคหนึ่งที่เป็นข่าวโด่งดังว่าเกิดจากการกินเนื้อหมูดิบ คือ ‘โรคไข้หูดับ’ หรือภาวะติดเชื้อ ‘แบคทีเรีย Streptococus Suis’ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างหูดับถาวรหรือเสียชีวิตได้ สาเหตุของการติดเชื้อนี้มีอยู่สองทาง คือเกิดจากการสัมผัสชิ้นส่วนเนื้อหมู ทำให้ติดเชื้อผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผลได้ หรืออีกสาเหตุคือ รับประทานหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ฉะนั้นแม้ว่าเราจะไม่ได้รับประทานเนื้อหมูดิบก็ตาม แต่คนที่ชื่นชอบการกินหมูกระทะก็ควรระวังด้วย เพราะเราอาจจะปิ้งเนื้อหมูไม่สุก ควรเช็คให้แน่ใจว่าสุกดีแล้วก่อนรับประทานเข้าไป
ชอบอาหารดิบ ก็เสี่ยงเจอ ‘พยาธิ’
อีกหนึ่งอันตรายที่มาพร้อมกับอาหารดิบ คือ ‘โรคหนอนพยาธิ’ ที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานเนื้อที่ไม่ปรุงสุก ทำให้พยาธิเหล่านี้ไม่ตาย เช่น ‘พยาธิตัวตืด’ พบได้ในเนื้อหมูหรือวัว เกิดจากการที่หมูหรือวัวกินไข่ของพยาธิตัวตืดเข้าไป หลังจากไข่ฟักเป็นตัวอ่อนแล้วจะไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ ลักษณะเป็นถุงน้ำใส ๆ ขาว ๆ คล้ายเม็ดสาคู
เมื่อคนรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีพยาธิชนิดนี้เข้าไป พยาธิก็จะเจริญเติบโตแล้วไปเกาะอยู่ตามผนังลำไส้เล็ก ลักษณะเป็นตัวแบน ๆ คล้ายเส้นบะหมี่ที่เรารับประทาน ระยะแรกอาจจะไม่มีอาการอะไรมาก แต่เมื่อเกิดการสะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลานาน จะมีอาการท้องอืด เจ็บบริเวณชายโครง หรือถึงขั้นมีอาการอักเสบของท่อน้ำดี ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต กลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับได้ หรือขั้นร้ายแรงที่สุดก็อาจถึงตายได้เลย
พยาธิอีกหนึ่งชนิดที่พบได้จากการรับประทานปลาน้ำจืดดิบ หอย หรืออาหารหมักดองอย่างปราร้า ปลาส้ม นั่นคือ ‘พยาธิใบไม้ตับ’ เมื่อคนกินถุงซีสต์ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว พยาธิจะไปเจริญเติบโตอยู่ที่ท่อน้ำดีที่ตับ มีลักษณะเป็นตัวรี แบนคล้ายใบไม้ เมื่อสะสมไปมาก ๆ เป็นเวลานาน จะเกิดการอักเสบของท่อน้ำดี ตับโต หรือเป็นมะเร็งตับ ส่วนการรับประทานกุ้งฝอยในเมนูกุ้งเต้น ก็เสียงที่จะเจอกับ ‘พยาธิใบไม้ปอด’ เมื่อตัวอ่อนของพยาธิเติบโตจะไชเข้าไปในปอด ทำให้ปอดอักเสบ เจ็บหน้าอก และไอ หรือบางครั้งพยาธิอาจไชไปยังอวัยวะอื่น อย่างลำไส้เล็ก ตับ สมอง หรือตาได้อีกด้วย ส่วนกรณีที่มีป่วยรายหนึ่งที่จังหวัดพิษณุโลก เกิดอาการตาขวาบอดเมื่อต้นปี 2565 มีสาเหตุมากจาก ‘พยาธิปอดหนู’ ขึ้นตา เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ชอบรับประทานอาหารดิบ ๆ โดยเฉพาะกุ้งแช่น้ำปลา
ส่วนเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ทะเลดิบ เช่นปลาแซลมอนดิบหรือปลาทูน่าดิบนั้น หลายคนอาจคิดว่าไม่มีพยาธิ แต่จริง ๆ แล้วก็พบได้เช่นกัน อย่าง ‘พยาธิอะนิซาคิส’ ที่คนญี่ปุ่นเป็นมากที่สุดในโลก โดยพยาธิชนิดนี้ทำให้มีอาการเลือดออกในกระเพาะ ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ ที่น่ากลัวคือพยาธิชนิดนี้ไม่มียารักษา ใช้ยาถ่ายก็ทำไม่ได้เพราะตัวพยาธิฝังอยู่ที่กระเพาะอาหาร ต้องผ่าตัดคีบพยาธิออกเท่านั้น แต่พยาธิชนิดนี้สามารถป้องกันได้โดยการแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 – 7 วัน หรือต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง วิธีนี้สามารถฆ่าพยาธิได้ ทำให้คนไทยมักไม่พบคนเป็นโรคนี้เท่าไหร่เนื่องจากต้องนำเข้าปลาแช่แข็งจากต่างประเทศ
‘น้ำจิ้มแซ่บ ๆ’ อร่อยปาก ลำบากท้อง
“กินแต่เนื้อเปล่า ๆ ไม่ได้ ต้องจิ้มน้ำจิ้มด้วย เดี๋ยวจะไม่อร่อยกลมกล่อมแบบครบรส”
ประโยคข้างต้นเป็นตัวอย่างที่อธิบายแนวทางการกินที่คนไทยส่วนมากคุ้นเคยกันดี นั่นคือการมีน้ำจิ้มรสชาติจัดข้านมีเข้าคู่กับอาหารดิบ ๆ หลายๆ เมนู เพราะเราคนไทยโตมากับอาหารที่ครบรสทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ซึ่งหลาย ๆ คนก็คงไม่ปฏิเสธว่าเจ้าสิ่งนี้ช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยถูกปากมากขึ้นจริง ๆ
เมื่อกล่าวถึงน้ำจิ้มที่รับประทานกับเมนูอาหารดิบ ส่วนใหญ่เราน่าจะนึกถึง ‘น้ำจิ้มซีฟู้ด’ ที่รสชาติจัดจ้าน เปรี้ยวนำ หวานตาม หรือ ‘แจ่ว’ ที่เอาไว้จิ้มซอยจุ๊ ก็จะมีรสเค็มนำจากน้ำปลา ซึ่งน้ำจิ่มเหล่านี้มีเครื่องปรุงอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้เลย นั่นก็คือ ‘ผงชูรส’ หรือ ‘ผงนัว’ ที่จะทำให้รสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่รสจัดมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีกับสุขภาพ อย่างบรรดาสารพัดน้ำจิ้มซึ่งมีทั้งน้ำปลา เกลือ หรือผงชูรสเป็นส่วนประกอบ ต่างก็มี ‘โซเดียม’ เรียกว่ายิ่งเค็มมากหรือรสชาติจัดจ้านมากเท่าไหร่ เท่ากับมีโซเดียมมากขึ้นเท่านั้น
อันตรายจากการที่ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป เบื้องต้นอาจจะมีอาการกระหายน้ำมากกว่าปกติ ปากแห้ง ตาแห้ง อ่อนเพลีย เพราะมีภาวะโซเดียมในเลือดสูง ส่วนอาการที่รุนแรงก็คืออาจทำให้ไตเสื่อม เพราะไตต้องทำงานหนักในการขับโซเดียมออกจากร่างกาย เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง จะส่งผลให้ไตเกิดการคั่งเกลือและการบวมน้ำ รวมถึงความดันโลหิตสูง และพัฒนาไปสู่การเป็นโรคไตได้
‘เครื่องครัว’ แหล่งปนเปื้อนที่คนนึกไม่ถึง
ไม่เพียงแค่อาหารและเครื่องปรุงที่นักกินทั้งหลายจะต้องระมัดระวังภัยที่แฝงอยู่เท่านั้น แต่อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยในการตระเตรียมอาหารก็อาจเป็นต้นตอความเจ็บป่วยของเราได้ หากใช้งานโดยไม่ระมัดระวังหรือดูแลให้ถูกสุขลักษณะ
เพราะอย่าลืมว่าก่อนเที่มนูอาหารดิบรสอร่อยถูกปากจะถูกเรารับประทาน จุดเริ่มต้นคือกระบวนการเตรียมวัตถุดิบ ที่จะต้องผ่านการหั่น เฉือน แล่ หรือสับ ให้สะดวกต่อการกิน เพราะถ้าเรากินเนื้อชิ้นใหญ่ ๆ ที่ไม่ได้ตัดแต่งก็คงเคี้ยวลำบากยากเย็น และไม่ได้รับรสชาติของความนุ่ม เด้ง และความหวานของเนื้อสด ๆ อย่างที่ใจต้องการ
เมื่อต้องมีการตัดแต่ง อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเตรียมเนื้อสัตว์ก็จะมีเขียงและมีด ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าเขียงจะก่อโรคได้ยังไง ? จริง ๆ แล้วเขียงไม่ได้เป็นตัวที่ก่อโรค แต่ถ้าเราดูแลรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ เขียงที่เราใช้ก็จะเป็นแหล่งเพาะเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ รวมไปถึงเชื้อราได้ และเมื่อเราใช้เขียงเหล่านี้ที่มีเชื้อโรคอยู่มาหั่นเนื้อดิบที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก ก็จะทำให้เกิดการปนเปื้อน เมื่อรับประทานเข้าไปก็จะทำให้เราท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้
ดังนั้นหากจะออกไปรับประทานเมนูอาหารดิบข้างนอกบ้าน ก็ควรลองเช็คความสะอาดของร้านให้แน่ใจก่อนว่าสะอาดถูกสุขลักษณะจริงไหม เช่นเดียวกับการปรุงอาหารเองที่บ้าน ที่ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ต่าง ๆ เลือกใช้เขียงที่เหมาะสม อย่างเขียงไม้นั้นทนและแข็งแรงกว่าเขียงพลาสติก แต่ต้องทำความสะอาดให้ดีเพราะเกิดเชื้อราขึ้นได้ง่ายกว่ามาก เมื่อใช้เสร็จทุกครั้งก็ควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยทุกครั้ง มีดก็เช่นกัน ถ้าใช้หั่นเนื้อสดแล้วก็ควรล้างทำความสะอาด เช็คให้แห้ง และเก็บไว้ให้ดี
ทำไมมนุษย์จึงควรกินอาหารปรุงสุก ?
มาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะเร่ามมีคำถามแล้วว่า ตกลงเราจะกินเมนูอาหารดิบไม่ได้เลยเชียวหรือ ?
คำตอบก็คือ คงไม่มีใครห้ามคนอื่นไม่ให้กินเมนูอาหารดิบ เพียงแต่การกินอาหารดิบนั้นก็มีผลกระทบต่อสุขภาพและมีเรื่องที่ต้องระมัดระวังหลายอย่าง ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้ทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วมากกว่า
แล้วทำไมมนุษย์จึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ? เหตุผลมีหลายสาเหตุ ทั้งในแง่ของวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่เกิดจากในสมัยก่อนมีการรวมตัวกันรอบกองไฟ ย่างเนื้อสัตว์ที่ล่าได้ ทำให้เกิดการพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมระหว่างกัน
ส่วนในแง่วิทยาศาสตร์ การปรุงอาหารให้สุกเป็นการช่วยให้มนุษย์สามารถย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น กระเพาะกับลำไส้จะได้ไม่ต้องทำงานหนัก อีกทั้งอาหารที่ทิ้งไว้นาน ๆ เชื้อโรคจะยิ่งจะเจริญโต ยิ่งในประเทศที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิที่สูงยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้แบคทีเรียเติบโตไวขึ้น และในเนื้อสัตว์ดิบอาจมีพยาธิชนิดต่าง ๆ ตามที่ได้เล่าไปแล้ว ซึ่งการกินดิบ ๆ ก็คือการเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับพยาธิเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย
ดังนั้นการปรุงอาหารให้สุกจึงเป็นวิธีที่ตัดวงจรการเกิดโรคต่าง ๆ เพราะการผ่านความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อโรค เนื้อสัตวที่จะนำมารับประทานควรล้างทำความสะอาดก่อนปรุงให้สุก รับประทานขณะที่อาหารยังร้อน สดใหม่ หากรับประทานไม่หมด ควรเก็บเข้าตู้เย็น ไม่วางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง หากจะนำมารับประทานอีกครั้งก็นำมาอุ่นให้ร้อนก่อน
ความชื่นชอบนั้นไม่มีผิดหรือถูก บางคนอาจจะชอบเมนูอาหารดิบ เพราะได้สัมผัสความสด หวาน นุ่ม เด้ง ของเนื้อสัตว์ และรสชาติอร่อยแบบที่บรรยายได้ยาก แต่หากเลี่ยงหรือเลือกได้ ควรเลือกกินอาหารปรุงสุก สดใหม่
เพราะการกินเมนูดิบ ๆ ในวันนี้อาจจะอร่อยถูกปาก แต่ก็เสี่ยงกับการเจอสารพัดปัญหาสุขภาพในวันข้างหน้าด้วยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง
เผยแพร่ครั้งแรก : Angkaew for Equality
เรื่อง : พชรา จันทิพย์วงษ์, ภัสร์ฐิตา พงศ์ถิรวิทย์
ภาพ : ญาณิศา แก้วการไร่, วราภัสร์ กุศล, สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ที่อมก๋อยจะมีเหมืองถ่านหินแล้วนะ ทำไมคนอมก๋อยไม่คิดจะทำอะไรเลยเหรอ” ข้อความจากโพสต์ของนักวิชาการอิสระท่านหนึ่งเมื่อปี 2562 เป็นคำถามที่ทิ้งไว้ให้ทุกคนที่ผ่านหน้าฟีดฉุกคิด และนำไปสู่การเคลื่อนไหวของชาวอมก๋อย
การออก ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565’ ที่กำหนดให้ทุกส่วนของ ‘กัญชา’ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) จำนวนไม่เกิน 0.2% ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2564 แล้ว ยังถือเป็นการ ‘ปลดล็อค’ ที่ส่งผลให้การใช้กัญชาในประเทศไทยสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด
‘Green Market’ ถ้าแปลตรงตัวก็คือ ‘ตลาดสีเขียว’ เป็นตลาดแหล่งขายสินค้าที่มีการจัดการแบบช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะให้กับโลก และเลือกใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ที่สามารถปรับให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยโลกได้