“หมุดหลักนี้ แสดงถึงเจตจำนงที่จะพิทักษ์ปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ มิให้ผู้ใดทำลาย และเพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณ อัตลักษณ์ของชนเผ่า คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สืบไป”
ข้อความสีแดงปรากฏบนหมุดหลักหนึ่งท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ที่ถูกผูกด้วยผ้าสีส้ม เพื่อแสดงถึงเจตจำนงในการรักษาพื้นที่ป่า 39 ไร่ 54 ตารางวา อันเต็มไปด้วย ‘จิตวิญญาณ’ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ที่ได้เชื่อมโยงวิถีชีวิตของพวกเขาให้เข้ากับธรรมชาติ โดยผูกโยงศาสนา และความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้ในผืนป่าแห่งนี้
กะเบอะดินหมู่บ้านกลางเทือกเขาถนนธงชัย ผู้คนในพื้นที่ล้วนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สะท้อนผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผืนดิน น้ำ สรรพสัตว์ รวมไปถึงผืนป่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตที่สำคัญ ป่าจิตวิญญาณจึงถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านนี้เลยก็ว่าได้ โดยบริเวณดังกล่าวมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการตัดไม้หรือถางป่าปลูกพืชหมุนเวียน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ชาวกะเบอะดินร่วมกันอนุรักษ์ และมีผู้เฒ่าผู้แก่เข้าไปดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ
ความเชื่อคริสต์ – พุทธ – ผี ใน ‘พิธีกรรมบวชป่า’
แม้หมู่บ้านกะเบอะดินจะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่พื้นที่แห่งนี้ก็เต็มไปด้วยความหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อ ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ทางธรรมชาติ (ต้าทีต้าตอ หรือสิ่งสูงสุด) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มมีการรับเอาความเชื่อจากศาสนาอื่น ๆ เข้ามายึดถือปฏิบัติตาม หมู่บ้านกะเบอะดินจึงเป็นการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีความแตกต่างด้านความเชื่อ ทั้งที่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ และความเชื่อกะเหรี่ยงดั้งเดิม
“ก่อนหน้านั้นชาวบ้านมีวิถีชีวิตตามปกติ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร จนมีเรื่องของสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินเข้ามา ชาวบ้านจึงทำให้พิธีบวชป่าเป็นทางการมากขึ้น จริงจังมากขึ้น เพื่อสื่อสารกับสาธารณะว่าเขารักษาป่านะ ไม่อยากสูญเสียพื้นที่ป่าไปให้บริษัทที่ขอสัมปทานเหมืองแร่”
กอล์ฟ – ศราวุฒิ ปิ่นกันตา จากสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงพิธีบวชป่าของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านกะเบอะดิน ซึ่งเขามีโอกาสเดินทางไปร่วมงาน และเป็นส่วนหนึ่งในการคัดค้านการประกาศพื้นที่สัมปทานเหมืองถ่านหินทับพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชน
‘พิธีกรรมบวชป่า’ เป็นการผสมผสานพิธีของสามความเชื่อร่วมกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไป โดยมีพื้นที่ป่าจิตวิญญาณเป็นสถานที่รวมตัวกันประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้แสดงความเคารพต่อผืนป่าและธรรมชาติ ทั้งยังใช้เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงเจตจำนงที่จะปกป้องผืนป่าแห่งนี้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต คำว่า ‘จิตวิญญาณ’ ไม่มีบันทึกในกฎหมาย แต่จิตวิญญาณคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่รัฐธรรมนูญต้องคุ้มครอง
14 กุมภา วันแห่งความรักษ์ของชาวกะเบอะดิน
“กะเบอะดินแมแฮแบ กะเบอะดินไม่เอาเหมืองแร่” คือถ้อยประโยคที่ชาวบ้านกะเบอะดินส่งเสียงดังก้องในพิธีบวชป่าจิตวิญญาณ
เสียงดังกล่าวสื่อความหมายถึงความเข็มแข็งของชุมชน ที่พยายามทำทุกทางเพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเองไว้ไม่ให้ถูกทำลายด้วยอำนาจของนายทุน โดยตั้งแต่ทราบข่าวว่ามีการขอสัมปทานทำเหมืองถ่านหินที่อำเภออมก๋อย คนในที่พื้นที่กะเบอะดินและพื้นที่ใกล้เคียงต่างร่วมกันคัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด
“เราจะบวชป่าในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักของทุกปี ปีแรกเราสร้างหมุดขึ้นมาในพื้นที่ โดยใช้พิธีกรรม 3 อย่าง คือพิธีกรรมดั้งเดิม นับถือผี คริสต์ และพุทธ เพราะในพื้นที่กะเบอะดินเขานับถือหลายศาสนา ซึ่งพื้นที่ตรงที่เราบวชป่านั้น ชาวบ้านเรียกว่าพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ” ศราวุฒิกล่าว
เมื่อถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ชาวบ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านต่าง ๆ จะรวมตัวกัน ณ พื้นที่ป่าจิตวิญญาณของหมู่บ้านกะเบอะดิน ซึ่งอยู่ในเขตรัศมีการขอทำเหมืองแร่ถ่านหิน เพื่อประกอบพิธีบวชป่าที่ผสมผสานหลายความเชื่อ จากการที่คนในชุมชนนับถือศาสนาที่แตกต่างกันออกไป เริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ ขับร้องบทเพลงทางศาสนาเป็นภาษากะเหรี่ยงนำโดยผู้ประกอบศาสนา ก่อนเข้าสู่พิธีทางศาสนาพุทธ ด้วยการให้ชาวบ้านผูกผ้าจีวรให้ต้นไม้ในบริเวณ เพื่อเป็นการทำบุญและประกาศพื้นที่ห้ามตัดไม้
“เราเกิดมาที่นี่ เรารักป่า เรารักน้ำ เรารักที่อยู่อาศัย เราจึงไม่อยากให้เหมืองมา ยังไงเราก็ต้องสู้ไปด้วยกัน” คือคำกล่าวของชาวกะเบอะดิน ที่ต้องการแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ของพวกเขาไว้ รวมทั้งประกาศถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่มีต่อเหมืองถ่านหิน
ดื่มน้ำรักษาน้ำ อยู่กับป่ารักษาป่า
“เราต้องปกป้องพื้นที่ตรงนั้น เพื่อเก็บพื้นที่ป่าไว้ ให้มันได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ”.
ความพยายามของบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ปกป้อง ‘ป่าจิตวิญญาณ’ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของนิเวศป่า และแหล่งต้นน้ำที่ถูกนำมาใช้ภายในชุมชนกะเบอะดินคนที่นี่เชื่อว่าหากรักษาพื้นที่แห่งนี้ไว้ จะทำให้คนในชุมชนมีผลผลิตทางการเกษตรที่ดี เปรียบเสมือนเป็นสถานที่ขอพรให้หมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของพวกเขาอีกด้วย
“สิ่งที่ไม่อยากเสียไปมากที่สุดก็คือวิถีชีวิตและป่า ถ้าไม่มีธรรมชาติก็คงอยู่ไม่ได้”
เสียงของชาวบ้านกะเบอะดินที่บอกเล่าไปสู่โลกภายนอก ก็ด้วยหวังให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้ว่า ทุกความพยายามที่จะปกป้องบ้านเกิด ก็เพราะไม่ต้องการให้ผืนป่า ลำห้วย ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชนเผ่าอันเป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้านกะเบอะดินเลือนหายไป
และนั่นทำให้ทุกครั้งที่ถูกถาม จุดยืนหนึ่งเดียวที่ผู้คนจากกะเบอะดินยืนยันอยู่เสมอ ก็คือ ‘ไม่เอาโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’
เพราะพวกเขาเชื่อในคำสอนของบรรพบุรุษที่ส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
“โอ้ทิ๊ง แฌแชที๊ง เจเท่อ เคเกล้ กแบ แฌแซ อ้ะ”
ดื่มน้ำรักษาน้ำ อยู่กับป่ารักษาป่า
เรื่อง : นลินี ค้ากำยาน
ภาพ : ศุภกร หทัยปรีวิจิตร
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คุณชอบดูซีรีส์ไหม ? แล้วมีซีรีส์ไหนเป็นเรื่องโปรดกันบ้าง ?
เวลาที่คนเราประสบปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจนทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ ไม่สบายกายสบายใจ แน่นอนว่าการจะแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น ย่อมเริ่มจากการหาที่มาของปัญหาให้เจอแล้วพยายามหาทางแก้ไข แต่บางครั้งการ ‘หาที่พึ่ง’ ไม่ว่าจะทางใดก็ก็ตาม ก็เปฌนอีกวิธีที่ผู้คนเลือกใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์และสร้างความหวังให้กับทั้งตนเองและบุคคลรอบข้าง
“รสสัมผัสนุ่มลิ้น กลิ่นคาวไม่มี ยิ่งสดยิ่งดี หอมหวานอร่อย”