คุณชอบดูซีรีส์ไหม ? แล้วมีซีรีส์ไหนเป็นเรื่องโปรดกันบ้าง ?
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในปัจจุบันนี้ ‘ซีรีส์’ เป็นอีกหนึ่งความบันเทิงที่ผู้คนมากมายชื่นชอบและติดตามกันอย่างสม่ำเสมอ หลายคนน่าจะมีมีกิจวัตรประจำวันหรือประจำสัปดาห์คล้าย ๆ กัน นั่นคือดูซีรีส์สักตอนสองตอนก่อนนอน หรือตั้งหน้าตั้งตารอวันหยุดเพื่อดูซีรีส์กันไปยาว ๆ ให้จบซีซั่น และถ้าเรื่องโปรดจบซีซั่นไปแล้ว ก็เฝ้ารอด้วยใจจดจ่อว่าซีซั่นใหม่จะเริ่มต้นเมื่อไหร่
เมื่อพูดถึงซีรีส์ แต่ละคนก็คงมีแนวหรือที่มาที่ตนเองชื่นชอบแตกต่างกันไป มีทั้งที่ชอบดูซีรีส์ฝรั่ง เป็นแฟนพันธุ์แท้ของซีรีส์เกาหลี สนุกกับซีรีส์ญี่ปุ่น หรือติดตามดูซีรีส์ไทยก็ว่ากันไปตามชอบ แต่ยังมีอีกซีรีส์หนึ่งที่มาแรงและได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ ‘ซีรีส์จีน’
ปัจจุบันความนิยมในการดูซีรีส์จากประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีหลายแพลตฟอร์มที่นำซีรีส์จีนมาเผยแพร่ให้ได้ชม มีทั้งแบบคำบรรยายภาษาไทย และแบบที่นำไปพากย์ไทยเพื่อให้คนที่ไม่ชอบอ่านคำบรรยายได้รับชมกันอย่างสนุกสนาน รวมถึงการนำไปฉายให้ชมผ่านทางสถานีโทรทัศน์ และนอกจากจะได้สนุกกับการติดตามชมแล้ว ผู้ชมชาวไทยยังได้รับอิทธิพลและได้รับวัฒนธรรมบางอย่างจากการดูซีรีส์จีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันในแบบฉบับของคนไทยอีกด้วย
ในบทความเรื่อง ‘กระแสนิยมซีรีส์จีน พลังความบันเทิงกับวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน’ จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ได้นำเสนอสถิติการรับชมซีรีส์จีนของคนไทย โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2562-2564 พบว่าคนไทยดูซีรีส์จีนเยอะมากกว่าที่ผ่าน ๆ มา และหลังจากนั้นก็มีการแสดงออกของกลุ่มแฟน ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จนมีคำกล่าวกันในหมู่ผู้ชมว่า หากได้เริ่มดูซีรีส์จีนแล้ว อาจหลงลืมงานของเกาหลีใต้ตลอดไป และนำไปสู่การเกิดขึ้นของฐานแฟนคลับที่เรียกตัวเองว่า ‘ด้อมจีน’หรือ Fandom ที่ชื่นชอบซีรีส์จากจีนนั่นเอง
การเลือกชมซีรีส์จีนของผู้ชมชาวไทย ยังนำไปสู่การเปลี่ยนครั้งสำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยเฉพาะในแง่วัฒนธรรม จากการที่ผู้ชมเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนมากขึ้น มีการแบ่งปันภาพทางสังคมวัฒนธรรมทั้งในแบบจารีตนิยมและทันสมัย หลายคนเลือกนำบทประพันธ์คลาสสิกมาถกเถียงในกลุ่มแฟนวรรณกรรม บางคนแบ่งปันความเห็นหลังการชมซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่ตนประทับใจในรูปแบบรีวิว บางคนเลือกบริโภคสินค้าแฟชั่นตามอย่างนักแสดง รวมถึงการรับประทานอาหารตามซีรีส์
นอกจากนี้ยังมีความต้องการเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ จากเดิมที่เชื่อกันว่าคนที่สนใจภาษาจีนเป็นเพราะมองว่าคือโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ผู้เรียนหลายคนในปัจจุบันเลือกเรียนด้วยความรู้สึกชอบเป็นการส่วนตัว นับเป็นอีกปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องมาจากการชมซีรีส์จากจีน ที่ส่งผลให้การสอนหลักสูตรภาษาจีนได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย
ในบทความ ‘คนไทยกำลังนิยมดู ซีรีส์จีน มากขึ้น’ ของ MarketThink ได้ให้มุมมองว่า ปัจจุบันซีรีส์จีนทันสมัยไม่แพ้ซีรีส์ต่างประเทศ โดยจุดเริ่มต้นมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนมีนโยบายผลิตซีรีส์แนวใหม่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนในปัจจุบันให้เป็นสากล อีกทั้งสาเหตุที่จีนพยายามผลักดันเรื่องนี้ เป็นเพราะการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนจะช่วยส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศ และยังถือเป็นการสร้างการรับรู้ความเป็นชาติของจีนไปในตัว
นอกจากนี้เทคโนโลยีการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความนิยมให้กับซีรีส์จีน เนื่องจากมีช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เกิดขึ้นสำหรับการรับชมซีรีส์จีนโดยเฉพาะ เช่น WeTV แอปพลิเคชัน Video Streaming ที่หลายคนรู้จักกันดี ขณะที่ตัวอย่างซีรีส์จีนที่ฟีเวอร์ในไทยก็ได้แก่ ‘A Love So Beautiful (นับแต่นั้น…ฉันรักเธอ)’ และ ‘Put Your Head on My Shoulder (อุ่นไอในใจเธอ)’ ที่เป็นกระแสฮอตฮิตติดเทรนด์ในทวิตเตอร์เมื่อตอนที่ออกฉาย จน WeTV ต้องจัดงานมีตติ้งนำนักแสดงมาพบกับแฟน ๆ ที่สยามพารากอน เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ความนิยมต่าง ๆ ของผู้ชมชาวไทยที่มีต่อซีรีส์จีน นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้ชมรวมไปถึงสังคมรอบข้าง โดยในการวิจัยเรื่อง ‘การตอบรับซีรีส์โทรทัศน์กับการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีนในสังคมไทยร่วมสมัย’ ของ ดร.ฐนยศ โล่พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจัดเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โดยผู้ชมซีรีส์เริ่มมีมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับจีน มองว่าจีนเป็นชาติอันงดงาม เต็มไปด้วยอารยธรรม มีความน่าเลื่อมใส มีความอบอุ่น มีความน่าประทับใจ และผู้ชมจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาติดตามข่าวสารความก้าวหน้าเกี่ยวกับจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ พัฒนาการคอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ การค้า การลงทุน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
การมองจีนในมุมใหม่ยังเป็นผลมาจากเนื้อหาในซีรีส์ ที่พยายามสะท้อนความเป็นมืออาชีพของชาวจีนในการยกระดับตนเอง ทั้งยังนำเสนอความเป็นจีนในมิติอันสูงส่ง อย่างการแสวงหาความก้าวหน้า การทำเพื่อสังคมโดยรวม เป็นต้น ในสายตาผู้ชม จุดเด่นของซีรีส์จีนขึ้นอยู่กับความงามเชิงเนื้อหาซึ่งส่งผลต่อการสร้างภาพจำที่งดงามหลากหลาย ครอบคลุมความสัมพันธ์ในครอบครัว มิตรภาพ หรือคู่รัก ขณะที่ฉากหลังฉายความวิจิตรทางธรรมชาติและอาคารบ้านเรือน แต่ละแห่งดูคล้ายงานออกแบบของจิตรกร และยังสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมให้ดูน่าชื่นชม ถือเป็นความพิเศษที่มีเฉพาะในซีรีส์จีน
งานวิจัยดังกล่าวยังได้พูดถึงการใช้ทฤษฎี Cultural Soft Power มาอธิบายถึงการที่ซีรีส์จีนได้รับความนิยม โดยอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการยอมรับการเชื่อมสัมพันธ์ด้วยวัฒนธรรม และซีรีส์จีนคือช่องทางสื่อสารวัฒนธรรมผ่านการนำเสนอเรื่องราวที่น่าติดตาม บทสนทนาเกี่ยวกับซีรีส์จีนมักลงเอยด้วยคำแนะนำให้ลองรับชมแบบปากต่อปาก ขณะที่เสียงวิจารณ์อีกส่วนบอกว่า ซีรีส์จีนทำให้ผู้ชมไทยเข้าใจมนุษย์ รวมถึงเห็นความงดงามของสังคมคนจีน ซีรีส์จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนทัศนะและพฤติกรรม ทำให้ผู้ชมเกิดความไว้วางใจมาตรฐานของจีน และส่งผลให้ซีรีส์จีนได้รับความนิยมและอยู่ในกลุ่มตัวเลือกแรก ๆ สาหรับผู้ชมชาวไทย
ความนิยมที่ซีรีส์จีนได้รับจึงกลายเป็นช่องทางที่สร้างความผูกพันกับผู้ชมอย่างเหนียวแน่น ไม่เหมือนการศึกษา การบริโภคข่าวสาร หรือการทำกิจกรรมระยะสั้นอื่น ๆ ด้วยช่องทางเหล่านี้ขาดเรื่องราว ไร้ความสะเทือนอารมณ์ และไม่สามารถปลูกฝังความซาบซึ้งได้เข้มข้นเท่าซีรีส์ ดังนั้นซีรีส์จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนทัศนะและพฤติกรรมอันเกี่ยวข้องกับจีนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าซีรีส์นั้นมุ่งสร้างภาพความเป็นจีนในแบบที่น่าสรรเสริญ
ด้านบทความ China’s Powerful Soft Power in Southeast Asia โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งนำเสนอประเด็นความพยายามของจีนที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่จีนถือว่ามีความสำคัญ บทความดังกล่าวอธิบายว่า แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ แต่ก็มาพร้อมกับการเติบโตของกองทัพที่สร้างความไม่สบายใจให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจากการที่หลายประเทศมีข้อพิพาทกับจีนเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้
ด้วยเหตุนี้จีนจึงพยายามที่จะลบภาพความเป็นภัยคุกคามต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านท่าทีที่เป็นมิตร และจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างสงบสุข ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จีนนำมาใช้คือ Soft Power ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากการที่ละครจากจีนได้รับความนิยมอย่างสูงในหลายประเทศ รวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อการศึกษาภาษาจีนในประเทศต่าง ๆ โดยบทความได้ยกตัวอย่างประเทศไทย ที่จำนวนโรงเรียนสอนภาษาจีน กับหลักสูตรภาษาจีนทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับนักเรียนจากไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อในจีน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 6 ของชาวต่างชาติที่มาศึกษาต่อในจีน
ขณะที่ความคิดเห็นจากผู้ชมซีรีส์จีนอย่าง คุณอรทัย ชอขอด คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองวัย 45 ปี ที่ก้าวเข้าสู่วงการซีรีส์จีนเต็มตัวเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้กล่าวว่า “หลังจากได้ดูซีรีส์เรื่อง ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ก็รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง นักแสดงหล่อ เนื้อเรื่องน่าสนใจ พอได้ดูเรื่องนี้แล้วก็มีเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีกเพราะสนุก ซีรีส์จีนสมัยนี้เนื้อเรื่องน่าสนใจเยอะ ทั้งบันเทิงและคลายเครียดจากการทำงานทั้งวันได้ดี”
จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอ จะเห็นได้ว่า ‘ซีรีส์จีน’ กลายเป็นอีกหนึ่งสื่อบันเทิงที่ความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และความนิยมที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามนักแสดงที่ชื่นชอบ หรือการเป็นแรงบันดาลใจไปสู่การหาความรู้เกี่ยวกับจีนในด้านอื่น ๆ แม้ว่าในตอนนี้ความนิยมซีรีส์จีนจะยังสู้ซีรีส์เกาหลีหรือซีรีส์อเมริกันไม่ได้ แต่จากการเติบโตที่เกิดขึ้นทำให้พอจะคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตซีรีส์จีนจะโด่งดังและมีอิทธิพลทั้งต่อคนไทยและชนชาติอื่นที่ได้ชมซีรีส์อย่างแน่นอน
หากลองหันมามองรอบ ๆ ตัวเรา มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องหรือมาจากจีน เช่นเดียวกับความบันเทิงจากจีนที่กำลังรุกคืบเข้ามาเป็นเรื่องโปรดของแฟน ๆ และสร้างด้อมให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ว่าในอนาคตจีนอาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านนี้ เหมือนกับในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่พวกเขากลายเป็นผู้ผลิตรายสำคัญของโลกไปแล้ว และสักวันหนึ่งเราอาจจะได้เห็นคนไทยไปเซี่ยงไฮ้เพื่อตามรอยซีรีส์จีน เหมือนอย่างที่คนไทยไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ในเกาหลีเพื่อตามรอยซีรีส์เรื่องโปรดก็เป็นได้
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : สิรสา ชอขอด
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“เหมือนโลกเรามียักษ์ใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ทุกคนกลัว แล้วอยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งไปกรีดข้อเท้ายักษ์ ทำให้ทุกคนเห็นว่ายักษ์ก็เลือกออกได้ ถ้ายักษ์เลือดออกได้ ก็หมายความว่ายักษ์ก็ล้มได้นั่นเอง นี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นการเยือนไต้หวันของเพโลซีมันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่มันยิ่งใหญ่กับโลกด้วย”
‘สุนัข’ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมากในประเทศไทย จากปี 2559 ที่ข้อมูลระบุว่ามีสุนัขจรจัดจำนวน 758,446 ตัว แต่เมื่อถึงปี 2562 จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นเป็น 2.493 ล้านตัว
ย้อนกลับไปในอดีต มนุษย์ยุคแรกไม่ได้แบ่งเครื่องแต่งกายออกตามเพศสภาพ ใช้เพียงหนังสัตว์ ฟาง หรือใบไม้ มาทำเป็นลักษณะคล้ายกระโปรง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันสัตว์ต่าง ๆ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการทอผ้า เสื้อผ้าจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีอารยะมากขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปทรงกระโปรงแบบเดิม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมกรีก โรมัน ที่ผู้ชายยังคงใส่กระโปรง โดยจะใส่เป็นผ้าคลุมหลวม ๆ ยาวตลอดตัว ไม่ได้แบ่งข้างเป็นขาซ้ายขาขวา ง่ายต่อการตัดเย็บและสะดวกสบายในการใช้ชีวิต