คนเราจะมีวันพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน?
หากชีวิตเป็นสิ่งชั่วคราว ไม่ได้ยืนยาวเหมือนรัฐบาลลุงตู่ วูบวาบเพียงชั่วครู่ไม่ได้เลิศหรูเหมือนในนิยาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปุบปับแล้วดับสูญไป ไม่ทันได้เตรียมใจ ความตายก็มาพรากจากเรา
‘ความตาย’ คือปลายทางสุดท้ายของชีวิตที่เมื่อนึกถึงเมื่อใดก็ใจหาย เหมือนความฝันที่เคยวาดไว้พังทลายลงตรงหน้า เป็นสัจธรรมของชีวิตที่บางคนรู้สึกว่ายากเกินกว่าจะทำใจยอมรับ แต่ในทางกลับกัน ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้มองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา กับคนรัก กับความฝัน กับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านเข้ามาในทุกห้วงเวลาของชีวิต ที่กำลังจะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นความทรงจำ ซึ่งจะถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนา และกลายเป็นเรื่องเล่าและบทเรียนแก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป
ถ้าอย่างนั้นจะดีกว่าไหม หากเราได้เตรียมพร้อมรับมือกับ ‘ความตาย’ ที่กำลังจะมาถึงในสักวันหนึ่ง?
อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข
การเตรียมรับมือ ‘ความตาย’ ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คงไม่ได้หมายถึงการไหว้วอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การตั้งจิตภาวนา หรือการพาลูกหลานหิ้วปิ่นโตไปทำบุญ แต่เป็นการเตรียมรับมือกับความตายที่ถูกถ่ายทอดผ่านโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ร่วมมือกับชีวามิตร (บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด) ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงลมหายใจสุดท้ายให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างทั่วถึง
โดยโครงการนี้ใช้ชื่อว่า ‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ เป็นโครงการที่เชิญชวนให้ประชาชนได้วางแผนชีวิตก่อนลาโลก เป็นคู่มือในการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า เพื่อลมหายใจสุดท้ายที่เป็นสุข จุดประสงค์หลักของโครงการเชื่อว่า “ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายที่ดี สามารถอยู่ได้อย่างมีความหมายและจากไปอย่างมีความสุข”
ในส่วนของเนื้อหาของโครงการจะประกอบไปด้วย การบอกเล่าเรื่องราวทั้งเรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม โดยตัวอย่างที่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในแง่ของรูปธรรม คือเรื่อง ‘ร่างกายกำลังบอกลา’ เป็นบทหนึ่งในโครงการที่หยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ และอธิบายการทำงานของร่างกายที่เสื่อมโทรมลงไปตามอายุขัยของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถสังเกตเห็นและสามารถปฏิบัติตามได้
ส่วนเรื่องราวที่เป็นนามธรรม คือเรื่อง ‘ความปรารถนาที่แท้จริง’ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ทุกคนต้องการการดูแลรักษาที่ทรมานน้อยที่สุด ไม่เป็นภาระแก่คนรอบข้างและจากไปอย่างมีคุณภาพ ภายใต้การวางแผนชีวิตในอนาคตข้างหน้าว่าเราต้องการมีบั้นปลายชีวิตในรูปแบบไหน ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัวและไม่สามารถจับต้องได้เพราะเป็นเรื่องของอนาคต แต่อนาคตล้วนเกิดขึ้นจากปัจจุบัน ถ้าหากปัจจุบันเป็นรากฐานที่แข็งแรง มีการวางแผนที่ดี ก็จะส่งผลให้อนาคตดีตามขึ้นมาได้ และนั่นเป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นและจับต้องได้ด้วยภาพจินตนาการในหัว ว่าเราสามารถกำหนดคุณภาพชีวิตในระยะสุดท้าย ให้ได้พบและสัมผัสกับการ ‘ตายดี’ และจากไปอย่างมีความสุขได้
‘การุณยฆาต’ ความหมายของการตายดี
จากที่ได้ทิ้งท้ายไว้ก่อนหน้านี้ถึงคำว่า ‘ตายดี’ แล้วคำคำนี้มันสื่อถึงอะไรกันแน่? ผู้เขียนอยากนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘การุณยฆาต’
คำว่า การุณยฆาต หรือ Euthanasia เป็นภาษากรีก ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ Eu หมายถึง Good และ Thanatos หมายถึง Death ซึ่งแปลรวม ๆ แล้วมีความหมายว่า ตายดีตายสงบ โดยแนวคิดการุณยฆาตถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ไม่มีหนทางในการรักษาหรือทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย เป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากความทรมาน โดยทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia) คือ การยุติการรักษาให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยในระยะสุดท้าย หรือการรักษาได้ดำเนินมาถึงขีดสุด และแพทย์หรือผู้ได้รับอนุญาต เลือกวิธีนี้เพื่อปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตและหลุดพ้นจากความเจ็บปวดของการรักษา ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และถูกกฎหมายในหลายประเทศ
การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) คือ การุณยฆาตโดยการให้สารหรือวัตถุเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เกิดข้อถกเถียงกันมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน และยังไม่ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ
นอกจากนี้ในทางกฎหมายสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การยินยอมให้แพทย์หรือผู้อื่นที่ได้รับอนุญาต กระทำการฉีดสารหรือใช้วัตถุยุติชีวิตตามเจตจำนงผู้ป่วย และอีกประเภทคือ การยุติชีวิตด้วยตัวผู้ป่วยเอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยา การฉีดหรือกดปุ่ม โดยมีแพทย์เตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือให้ เรียกวิธีนี้ว่า Physician Assisted Suicide (PAS)
ในปี พ.ศ. 2565 มีเพียง 11 ประเทศทั่วโลกที่ยอมรับและมีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และอินเดีย นอกจากนี้มีเพียงสวิตเซอร์แลนด์ประเทศเดียวในโลกเท่านั้น ที่อนุญาตให้ผู้ป่ วยจากต่างประเทศสามารถเดินทางไปเข้ารับการทำการุณยฆาตได้ เนื่องจากมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยยุติชีวิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 และยังมีสถาบันเกี่ยวกับการยุติการรักษาสำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก คือ Dignitas Suicide Clinic
ส่วนประเทศไทยยังไปไม่ถึงขี้นนั้น เพราะในไทยถือว่าการทำการุณยฆาตเป็นการฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่มีเพียง ‘พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550’ ที่ประกอบไปด้วยเนื้อหารวม 55 มาตรา และมาตราซึ่งก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ก็คือมาตรา 12 ที่ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือเพื่อแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง” ซึ่งคนในสังคมไทยมองว่า การมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาตามขั้นตอน ถือว่าผิดศีลธรรมและจริยธรรมมนุษย์
ความตาย : สิทธิมนุษยชน หรือความหมายทางศีลธรรมและศาสนา
ปัจจุบันผู้คนในสังคมเกิดคำถามและข้อถกเถียงในประเด็นข้อกฎหมายการอนุญาตให้ทำการุณยฆาตเพิ่มมากขึ้น ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนควรจะมีสิทธิเลือกวิธีการตายของตนเอง แต่ในด้านของศีลธรรมและศาสนาถือว่าการุณยฆาต ไม่ว่าจะทำกับใคร เพราะความหวังดีอย่างไร ต่างก็เป็นการฆ่าคนทั้งสิ้น และจริยธรรมในทางพุทธศาสนาเป็นจริยธรรมที่เด็ดขาดตายตัว การฆ่าก็คือการฆ่า ผิดศีลข้อที่หนึ่งทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในสังคม ว่าเราควรจะให้ความสำคัญในประเด็นใดมากที่สุด หากจะมองในแง่ของสิทธิก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนัก หรือในแง่ของศีลธรรมและศาสนาก็ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นผู้เขียนจึงได้หยิบยกมุมมองในประเด็นนี้ ทั้งในแง่ของสิทธิ ศีลธรรมและศาสนา มาให้ผู้อ่านได้ประกอบกับความคิดเห็นของผู้อ่าน เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ
โดย สิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิทางกฎหมายและสิทธิทางธรรมชาติ กล่าวคือสิทธิที่จะตายจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติ เพราะกฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้กำหนดให้สัตว์และมนุษย์มีสัญชาตญาณในการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตนเอง นอกจากนี้มนุษย์ยังมีพฤติกรรมที่ทำลายชีวิตของตนเองด้วย นั่นคือการฆ่าตัวตาย มนุษย์สามารถกำหนดว่าตนเองจะใช้ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (The Right to Life) หรือ สิทธิที่จะตาย (The Right to Die) ได้ตามความประสงค์ของแต่ละคน ซึ่งเป็นการยอมรับสิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง รวมทั้ง ความมีอิสระในการตัดสินโชคชะตาของตนเอง (The Right to Self-Determination) ดังนั้นสิทธิที่จะตายจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอิสระเสรีของมนุษย์
ขณะที่ฝั่งศีลธรรมและศาสนา มองว่าสิทธิที่จะตายนั้นมีความสลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อย โดยในทางหนึ่งพระพุทธศาสนาเห็นว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง ดังนั้นมนุษย์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะมีโอกาสทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นให้มากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาก็ไม่ได้มองว่ามนุษย์ห้ามตายหรือจำเป็นต้องมีชีวิตที่เป็นอมตะ เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องที่เป็นสัจธรรมของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ
ซึ่งถ้ามองว่าคนเราไม่จำเป็นต้องตายด้วยความทุกข์ทรมาน เราก็สามารถจากโลกนี้ไปด้วยใจที่สงบได้ ขอเพียงแต่เรารู้จักเตรียมจิตใจในยามที่มีสุขภาพดี ให้พึงระลึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพื่อกระตุ้นให้ขวนขวายทำความดี สร้างบุญกุศล รวมทั้งฝึกจิตใจให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ว่าเจ็บป่วย พลัดพราก สูญเสีย รวมทั้งความตาย หากทำเช่นนี้ได้ เราไม่เพียงแต่จะมีชีวิตที่สุขสบายเท่านั้น หากยังตายได้อย่างสงบเมื่อวันนั้นมาถึง
เหมือนดังในคลิปการบรรยายของ คุณเอกภพ สิทธิวรรณธนะ (มาร์ท) วิทยากรจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา และผู้ร่วมก่อตั้ง Peaceful Death ซึ่งได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อการบรรยายเรื่อง เครื่องมือช่วยในการพูดคุย Advance Care Planning (ACP) หรือ การวางแผนสุขภาพล่วงหน้า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
โดยช่วงหนึ่งของการบรรยาย คุณมาร์ทได้กล่าวถึงความตายในแง่ของการพูดคุยให้กลายเป็นเรื่องปกติที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ในสังคม เพราะเรื่องของความตายไม่ได้เป็นเรื่องของภาพที่มีแต่สีดำ หรือไม่ได้มีแต่ความเศร้าโศก แต่ถูกกล่าวถึงในมิติที่ต่างออกไป ไม่ใช่เพียงแค่มิติของหนังสือธรรมะ และเป็นมากกว่ามิติของประเพณี แต่เพราะความตายเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์และเป็นเรื่องของสุขภาพ
“ถ้าเราออกแบบงานศพของเราได้ ซึ่งงานศพของเรามันจะต่างออกไปจากประเพณีหรือเปล่า และเมื่อเราได้ลองคิดว่าความตายมันอาจจะไม่เหมือนที่ผ่านมา โดยการคิดนี่แหละที่ทำให้ความตายกลับมาในกระบวนการคิดของเรามากขึ้น และเมื่อนั้นความตายก็จะเป็นมิตรกับเรา มีความสัมพันธ์กับเราได้อย่างสบายใจมากขึ้น” คุณมาร์ทกล่าว
‘ความตาย’ ที่สังคมหยิบยื่นให้
โดยปกติในกระบวนการรักษาโรคทางการแพทย์นั้น นอกจากผู้ที่เป็นญาติแล้ว ตัวผู้ป่วยเองถือเป็นบุคคลที่มีสิทธิในการตัดสินใจร่วมกับแพทย์ผู้รักษาอาการ ในการยินยอมเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์ ซึ่งคำตอบอาจเป็นไปได้ทั้งยินยอม คือยอมเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน หรืออีกคำตอบคือไม่ยินยอม หรือที่เรียกว่า “การปฏิเสธการรักษา” ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นการการุณยฆาตเชิงรับ เป็นที่ยอมรับได้ในสังคมโลก ส่วนในสังคมไทยก็ถือว่าสามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน
แล้วผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษา มีเหตุผลอะไรในการไม่เข้ารับการรักษากันแน่? เป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง หรือมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง?
แน่นอนว่าเหตุผลคือไม่อยากเจ็บปวดหรือทรมาน แล้วความทรมานนี้คืออะไร? ทรมานจากการรักษา หรือทรมานจากความรู้สึกผิดที่เป็นส่วนหนึ่งของภาระให้คนที่ตนเองรักต้องลำบาก เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่ไม่มีสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจกล้ำกลืนเลือกความตายแทนความเจ็บปวด เป็นการเลือกที่ไม่มีแม้แต่ตัวเลือก ไม่มีแม้แต่โอกาสได้ทบทวนความต้องการที่แท้จริงของตนเอง มีเพียงแค่ความตายที่สังคมหยิบยื่นให้
เมื่อถึงเวลากล่าวคำอำลา….
“หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตคุณ ใครคือคนแรกที่คุณอยากขอบคุณ และใครคือคนแรกที่คุณอยากขอโทษ”
แน่นอนว่าทุกคนมีคำตอบของตนเองอยู่ในใจ และอาจกำลังครุ่นคิดอย่างหนักว่าเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้มาถึง ยังมีสิ่งใดบ้างที่เรายังไม่ได้ทำ หรือได้ทำบางอย่างผิดพลาดไป
เหมือนกับในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘One for the Road วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ’ เรื่องราวของ ‘อู๊ด’ (รับบทโดย ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ที่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน จึงขอให้ ‘บอสง (รับบทโดย ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร) เพื่อนสนิทที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันที่นิวยอร์ก มาขับรถร่วม Road Trip คืนของให้อดีตคนรัก พร้อมกับทบทวนความสัมพันธ์ ทั้งตอนที่เคยอยู่ด้วยกันและวันที่จากลา
เมื่อเราลองพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ในหนังแล้ว ก็พบว่ามีหลายข้อคิดที่น่าสนใจมากที่ได้มาจากหนังเรื่องนี้ สิ่งที่หนังพูดถึงก็คือความไม่สมบูรณ์ และความผิดพลาดจากความเป็นมนุษย์ เพราะถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าไม่มีตัวละครไหนที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่างคนต่างก็เคยทำพลาดด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่แต่ละคนจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้อย่างไร
เช่นเดียวกัน ถ้าหากเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเรา เราเองก็คงทำตัวไม่ถูก และเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ยากมากเช่นกัน เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินจะรับมือ และคงเป็นความรู้สึกที่น่าเสียดายและเสียใจอย่างมาก ที่ต้องยอมรับว่าเรื่องราวทั้งหมดกำลังจะจบลง คงได้เพียงแค่คิดว่าถ้าเรามีโอกาสในการเลือกอีกสักครั้ง เราอยากจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน และวางแผนในอนาคตไว้อย่างไร หรือแม้แต่การกลับไป ขอโทษ ขอบคุณ และขอให้โชคดี ก็คงทำไม่ได้เช่นเดียวกัน
เพราะเมื่อความตายมาถึง สิทธิในการเลือกก็จะลดน้อยลงไป อยู่ที่ว่าใครจะจากไปอย่างทรมานมากหรือทรมานน้อย จากไปอย่างสงบหรือจากไปอย่างมีห่วง เราก็ไม่สามารถเลือกได้เช่นเดียวกัน เพราะเราไม่มีสิทธิ์เพราะเขาไม่ให้เรา
มีเพียงแต่ความตายเท่านั้นที่อยู่กับเราเสมอมา และตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่อง : โชคทวี ฤทธิ์เต็ม
ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่อยากจะย้ายประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนแรงงาน
คุณจะตกใจไหม ? ถ้าเราจะบอกคุณว่า คุณไม่จำเป็นต้องทนดูดฝุ่นเองให้ปวดหลังอีกต่อไปแล้ว เพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถผลิตหุ่นยนต์ที่สามารถทำหน้าที่ดูดฝุ่นแทนคุณได้ตลอดทั้งวัน
เมื่อพูดถึง ‘ผู้สูงอายุ’ ภาพในความคิดของหลาย ๆ คนคงนึกถึงคนที่เกษียณอายุจากการทำงาน หรือคุณตาคุณยายอยู่กับบ้านเลี้ยงหลาน ชีวิตของคนเหล่านี้ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวไปอย่างช้า ๆ และดูเหมือนจะห่างไกลจากความกระตือรือร้นหรือกระฉับกระเฉงที่จะทำสิ่งต่าง ๆ