“ที่อมก๋อยจะมีเหมืองถ่านหินแล้วนะ ทำไมคนอมก๋อยไม่คิดจะทำอะไรเลยเหรอ” ข้อความจากโพสต์ของนักวิชาการอิสระท่านหนึ่งเมื่อปี 2562 เป็นคำถามที่ทิ้งไว้ให้ทุกคนที่ผ่านหน้าฟีดฉุกคิด และนำไปสู่การเคลื่อนไหวของชาวอมก๋อย
วัตถุทางธรรมชาติสีดำสนิทที่เรารู้จักในทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘ถ่านหินซับบิทูมินัส’ เป็นที่หมายปองของหลาย ๆ บริษัท ถูกค้นพบในลำห้วยที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิด ‘โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ ขึ้น
โครงการที่ว่านี้ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ไร้การรับรู้จากผู้คน กระทั่งเมื่อชุมชนกลางหุบเขาที่สงบแห่งนี้ได้รับรู้ เรื่องราวก็แทบจะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายแล้ว
‘กะเบอะดิน’ ขุมทรัพย์แห่งธรรมชาติ
หากเราลองค้นหาข้อมูลหมู่บ้านกะเบอะดินในอินเทอร์เน็ต มักจะพบเรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับโครงการเหมืองถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงน้อยนิดที่บอกเล่าความเป็นมาของหมู่บ้านหม้อดินแห่งนี้…
ชื่อของหมู่บ้านกะเบอะดินมาจากภาษาปกาเกอะญอ คำว่า ‘กะเบอะ’ หมายถึง ‘ดินเหนียวชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับทำเครื่องมือการดำรงชีพหรือภาชนะดินเผาโบราณ’ ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปั้นหม้อดินเพื่อขายตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนถูกจนถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้าน เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้เรื่องราวประวัติศาสตร์การอาศัยอยู่ของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บนพื้นที่แห่งนี้
ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ไม่นิยมปั้นหม้อดินเป็นอาชีพหลักแล้ว เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพเกษตรกร มีมะเขือเทศ ฟักทอง และกะหล่ำปลี เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ส่งออกไปยังตลาดค้าส่งต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ โดยกะเบอะดินเป็นเพียงพื้นที่เดียวที่มีมะเขือเทศในหน้าแล้ง แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่เป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของพืชเหล่านี้ และนอกจากจะมีลำห้วยที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชนแล้ว หมู่บ้านกะเบอะดินยังมี ‘พื้นที่จิตวิญญาณ’ นั่นคือผืนป่าอันกว้างขวางที่ถูกอนุรักษ์ไว้ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์อีกด้วย
483 ชีวิตในชุมชนที่อยู่กลางหุบเขามีวิธีชีวิตที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศ ผู้้คนในหมู่บ้านกะเบอะดินจึงเคารพนับถือและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า คนกับน้ำ สะท้อนผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งพิธีกรรมเกี่ยวกับป่าและพิธีกรรมเกี่ยวน้ำ เช่น พิธีเลี้ยงผีป่าผีเขา พิธีกรรมขอขมาป่าต้นน้ำ พิธีเลี้ยงผีในพื้นที่ไร่หมุนเวียน
เมื่อเหมืองมา ป่าและน้ำจะหายไป
ถ่านหินซับบิทูมินัสที่พบในหมู่บ้านกะเบอะดินเป็นถ่านหินที่เผาไหม้ได้ดีและมีปริมาณมาก ถ่านหินเหล่านี้เป็นต้นทุนด้านพลังงานที่มีราคาต่ำสุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้หลายบริษัทหมายปองที่จะครอบครอง จึงเกิด ‘โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ ขึ้น โดยเริ่มจากการดำเนินการกว้านซื้อที่ดินในหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2530
‘โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ เป็นโครงการภายใต้คำขอประทานบัตรที่ 1/2543 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ส่วนการขอใบประทานบัตรและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ (EIA) ทำโดยบริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ใช้ระยะเวลาในการยื่นขอทำสัมปทาน 10 ปี โดยมีชุมชน 2 แห่ง ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากพื้นที่เหมือง คือ บ้านกะเบอะดินและบ้านขุน
สำหรับบริเวณที่จะมีการสร้างเหมือง คือบริเวณที่ลำห้วยหลักของหมู่บ้านกะเบอะดินมาบรรจบกัน ทำให้การสร้างเหมืองถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำที่ชาวบ้านในหมู่บ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านใกล้เคียงใช้ดำรงวิถีชีวิตอย่างแน่นอน ทั้งการที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเกิดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และอาจนำไปสู่ข้อพิพาทการแย่งชิงน้ำในอนาคต
เมื่อแหล่งน้ำหายไป อีกสิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาก็คือ ชาวบ้านจะไม่สามารถทำการเกษตรได้เทื่อทำการเกษตรไม่ได้ รายได้ก็จะหายไป นอกจากนี้พื้นที่ทำกินของเกษตรกรอีกเกือบ 50 ครัวเรือนก็จะสูญเสียไปด้วย เพราะบริเวณที่จะสร้างเหมือง ไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่ที่ลำห้วยมาบรรจบกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ทางการเกษตรด้วย
นอกจากผลกระทบต่อแหล่งน้ำและพื้นที่ทำกินแล้ว โครงการเหมืองถ่านหินยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาฝุ่นควันและปัญหาคุณภาพอากาศ ที่จะส่งผลระยะยาวถึงปัญหาสภาพอากาศ ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีการเริ่มเปิดหน้าดินเพื่อขุดถ่านหินขึ้นมา อำเภออมก๋อยก็ติดอันดับ 5 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ที่พบ ‘จุดความร้อน’ มากที่สุดอยู้่แล้ว หากเกิดเหมืองถ่านหินขึ้น อำเภออมก๋อยอาจไม่ใช่แค่ติด 5 อันดับ แต่อาจจะขึ้นไปเป็นอันดับ 1 ของอำเภอที่พบจุดความร้อนมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่เลยก็เป็นได้
จากปัญหาข้างต้นที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเหมืองถ่านหินส่งผลกระทบทั้งต่อผืนป่า ระบบนิเวศ วิถีชีวิต เส้นทางคมนาคม รวมไปถึงสุขภาพของผู้คนที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ สำหรับชาวกะเบอะดิน โครงการเหมืองถ่านหินจึงเปรียบเสมือนเป็นระเบิดเวลาที่จะค่อย ๆ ทำลายสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านกลางหุบเขาแห่งนี้
3 ปีของการต่อสู้ สู่คำสั่งยุติโครงการ (ชั่วคราว)
“รู้ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่าเหมืองจะมา ตอนนั้นอายุประมาณ 13-14 แต่ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะมาแน่นอน เรื่องเหมืองมันมีมานานหลายปี ประมาณ 30 ปีที่แล้ว บอกว่าจะมาแต่ก็ไม่มาจริง ๆ ส่วนตอนนี้ ถ้าเราไม่คัดค้านก็ไม่รู้ว่าเหมืองจะมาวันไหน เดือนไหน ชาวบ้านไม่รู้อะไรเลย หลังจากรู้เรื่องก็ปรึกษากับชาวบ้านว่าทำยังไง จึงประชุมกันว่าไม่ให้เหมืองมา” แกละซัง พลทวิช ชาวบ้านกะเบอะดิน กล่าวถึงการทราบข่าวเกี่ยวกับโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย
คำปิดประกาศของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 สร้างความประหลาดใจให้คนที่อยู่ในพื้นที่อำเภออมก๋อยเป็นอย่างมาก หลังจากทราบข่าว ชาวบ้านกะเบอะดินและชาวอมก๋อยที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา
การรวมตัวของชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ในอำเภออมก๋อยที่คัดค้านโครงการดังกล่าว นำไปสู่ ‘การล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น’ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่ชาวอมก๋อยและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จำนวน 2,000 กว่าคน ได้แสดงพลังและจุดยืนไม่เอาโครงการเหมืองถ่านหิน และไม่ต้องการให้เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อได้
“ระหว่างการต่อสู้ พวกเราไม่ได้ต่อสู้กันปากเปล่า เราต้องใช้ข้อมูลเข้ามาช่วย เพื่อให้การต่อสู้ของเรานั้นดูมีน้ำหนักมากพอ ทั้งต่อการฟ้องศาลปกครองหรือการเผยแพร่ทางออนไลน์ เพื่อให้คนข้างนอกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูลพวกนี้ เพื่อให้เขารู้ว่าชุมชนของเรามีดียังไง” พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน กล่าวถึงการที่เธอและชาวบ้านอีกจำนวน 49 คน เข้าร่วมฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองถ่านหินอมก๋อยต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 เนื่องจากรายงาน EIA ที่โครงการเหมืองแร่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ อักทั้งยังมีข้อมูลพิรุธหลายประการ จากการที่ EIA ฉบับดังกล่าวไม่ครอบคลุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” รายงานว่า ประชาชนในพื้นที่กะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับหนังสือจากศาลปกครองเชียงใหม่ ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2565 มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีการทำเหมืองถ่านหินอมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ในระหว่างการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตาม การฟ้องศาลปกครองอาจจะไม่ใช่แนวทางการต่อสู้สุดท้ายของชาวกะเบอะดิน พวกเขายังคงแสวงหาและแสดงจุดยืนอันแน่วแน่ต่อไป จนกว่าโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจะยุติลงอย่างเป็นทางการ
หยัดยืนต่อสู้ จนกว่าโครงการเหมืองถ่านหินจะยุติถาวร
การที่ชาวบ้านกะเบอะดินไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองถ่านหิน เพราะมันอาจจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินที่อยู่ในพื้นที่โครงการกว่า 70% นั่นหมายความว่าหากโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นจริง ๆ นอกจากที่ดินของพวกเขาจะหายไปแล้ว รายได้ที่เคยได้ก็จะหายไปด้วย
แกละซัง กล่าวถึงความรู้สึกที่เขามีต่อโครงการเหมืองถ่านหินว่า “ถ้าเหมืองมามันจะกระทบหลายอย่าง ถ้าป่าหายไปอาจจะแล้ง ส่งผลหลายอย่าง เช่น มลพิษ น้ำกินน้ำดื่มใช้ไม่ได้” ขณะที่ ณัฐดนัย วุฒิศีลวัต เยาวชนในพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วยกับการมีเหมืองถ่านหินในชุมชนเช่นกัน “ไม่เห็นด้วยครับ ถ้าเกิดเหมืองขึ้นมานี่ สุดท้ายเกิดผลกระทบตามมามากมาย ซึ่งอาจจะทำให้พวกเราอยู่ในหมู่บ้านนี้ไม่ได้”
ด้าน ดวงใจ วงศธง แสดงความคิดเห็นว่า “ยังคงยืนยันที่จะคัดค้าน เรายังต่อสู้กันอยู่ ต่อสู้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหยุดเขาได้ ไม่ให้เขาทำ ถ้าเหมืองมา ชุมชนจะไม่มีที่ทำกินแล้วก็ไม่มีที่อยู่อาศัย ถ้าไม่มีที่ทำกิน เราก็จะไม่เหลืออะไรอีกแล้ว วิถีชุมชนของเราก็จะไม่มี อะไรก็จะเปลี่ยนไปหมด ถ้าเกิดจริง ๆ มลพิษก็จะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เราเองก็จะอยู่ไม่ได้ด้วยเหมือนกัน”
นอกจากพื้นที่ทำกินแล้วยังมีเรื่องของแหล่งน้ำที่อาจหายไป เพราะน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ชาวบ้านกะเบอะดินให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำมากที่สุด เพราะทุกคนใช้ประโยชน์จากน้ำในลำห้วยเป็นหลัก พวกเขาจึงไม่ต้องการให้พื้นที่เหมืองเข้ามาแทนที่ลำห้วยต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ได้แก่ ห้วยผาขาว ห้วยมะขาม ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแหล่งเดียวของหมู่บ้าน ที่พวกเขาใช้ทั้งอาบน้ำ ล้างจาน ไปจนถึงการทำเกษตร หากขาดแหล่งน้ำ ชีวิตของชาวบ้านก็จะลำบากมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ เนื่องจากการทำเหมืองต้องมีการเปิดหน้าดินโดยการตัดไม้ และต้องมีการระเบิดพื้นที่เหล่านั้นเพื่อหา0แร่ ในการระเบิดแต่ละครั้งจะทำให้เกิดฝุ่นควันจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน และอาจทำให้คนไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นต่อไปได้ จนอาจนำไปสู่การอพยพในที่สุด ซึ่งการที่ชาวบ้านกะเบอะดินส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ บางคนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เรื่องดังกล่าวก็จะกลายเป็นอีกปัญหาสำหรับพวกเขาหากมีการอพยพเกิดขึ้น
อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินกำลังจะเข้ามายึดครองพื้นที่แห่งชีวิตของชาวบ้านกะเบอะดิน โครงการเหล่านี้จะสร้างแผลใจและฝากร่องรอยความเจ็บปวดให้กับชุมชน ในรูปแบบของสภาพแวดล้อมที่หันไปทางไหนก็เจอแต่มลพิษ ภูเขาที่ต้นไม้ส่วนใหญ่เหี้ยนเตียนไปกับผืนดิน หรือมากไปกว่านั้น ภูเขาลูกนี้อาจหายกลายเป็นเพียงบ่อหลุม
แล้วแบบนี้ เราจะยอมแลกความอุดมสมบูรณ์ของกะเบอะดินและอมก๋อย กับโครงการเหมืองถ่านหินจริง ๆ หรือ?
เรื่อง : ซูไรญา บินเยาะ, นลินี ค้ากำยาน, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
ภาพ : จิราเจต จันทร์คำ, กรองกาญจน์ เกี๋ยงภาลัก, วิชญ์รัตน์ สร้อยฉวี, ฐิติพร มะโนวรรณา
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” บ่อยครั้งที่ได้ยินและได้เห็นประโยคนี้ ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีทำให้หนังสือปรากฏอยู่บนหน้าจอเล็ก ๆ ได้ การที่ร้านหนังสือตามริมทางจะหายไปจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีผู้คนที่ยังหลงใหลในสัมผัสของกระดาษที่ได้จับผ่านมือ และกลิ่นอายของกระดาษและน้ำหมึกก็ยังคงติดตรึงในใจ
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่อยากจะย้ายประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนแรงงาน
ข้อมูลจาก ‘รายงานความสุขโลก’ หรือ World Happiness Report ประจำปี 2565 ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่าอันดับความสุขของคนไทยตกอันดับลงไปอยู่ที่อันดับ 61 จากเดิมที่อยู่ที่อันดับ 54 ในปี 2564