‘คราฟต์เบียร์ (Craft Beer)’ คือการผลิตเบียร์โดยผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผู้ผลิตต้องใช้ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงเบียร์ให้มีรสชาติหลากหลาย เน้นการใช้ส่วนประกอบตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมีแต่งกลิ่น และมักจะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผลไม้ ดอกไม้ กาแฟ ช็อกโกแลต จึงทําให้มีความต่างจากเบียร์ทั่วไปที่เรารู้จักกัน
ในอดีตสังคมไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคราฟต์เบียร์นัก แต่ต่อมาเมื่อมีการนำคราฟต์เบียร์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ตามมาด้วยการเริ่มผลิตคราฟต์เบียร์ของผู้ผลิตชาวไทย ทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคราฟต์เบียร์ของคนในสังคมมีมากขึ้น และส่งผลให้ความนิยมที่มีต่อคราฟต์เบียร์ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบันคนไทยมีทางเลือกในการดื่มเบียร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบียร์หลาย ๆ แบรนด์ที่วางขายในท้องตลาดและผู้บริโภคคุ้นเคยกันดี หรือเบียร์คราฟต์ที่มีทั้งแบบนำเข้าจากต่างประเทศ และที่ผลิตโดยผู้ผลิตชาวไทย เช่นเดียวกับสถานที่จำหน่ายเบียร์ที่มีร้านใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และบางร้านก็เน้นไปที่การขายคราฟต์เบียร์โดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ชื่นชอบเบียร์ในกลุ่มนี้
สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่ หากจะพูดถึงคราฟต์เบียร์ที่ผลิตขึ้นโดยผู้ผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ และมีร้านจำหน่ายคราฟต์เบียร์ที่กลุ่มคนที่ชื่นชอบเบียร์ชนิดนี้รู้จักกันเป็นอย่างดี ก็คงจะได้แก่ร้าน ‘My BEER Friend’ ซึ่งถือเป็นร้านคราฟต์เบียร์ร้านแรก ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่จําหน่ายคราฟต์เบียร์แบรนด์ของตนเองในชื่อเดียวกับ ร้าน รวมถึงคราฟต์เบียร์ของผู้ผลิตชาวไทยแบรนด์อื่น ๆ
แต่ก่อนที่ My BEER Friend จะเป็นที่รู้จักในวงกราคราฟต์เบียร์ และมีร้านที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนรักคราฟต์เบียร์เมื่อมาเยือนเชียงใหม่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาเริ่มต้นกันได้อย่างไร ? ต้องเจอปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้ ? คุณกานต์ – พลพิสิษฐ์ ชีวสาธน์ ผู้จัดการร้าน My BEER Friend Market บนถนนช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ รับหน้าที่เป็นตัวแทนของ My BEER Friend มาบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์และร้านให้เราได้ทราบกัน
“จุดเริ่มต้นเลยก็คือคุณธีรวุฒิ แก้วฟอง และคุณจอมทัพ เอมศิรานันท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ รู้สึกว่าเขาเบื่อ คือบ้านเรามีเบียร์อยู่มีอยู่หลายฉลากก็จริง แต่ว่าก็มีแค่ประเภทเดียว เขาเลยรู้สึกว่าทําไมต่างประเทศมีเบียร์ที่แตกต่างหลากหลายประเภท ก็เลยเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับเบียร์ ทั้งประเภท รสชาติ วัตถุดิบ ไปจนถึงวิธีการทำ ก็แปลจากภาษาอังกฤษแล้วเอามาทดลองทำดูครับ หลังจากทำได้แล้ว ก็ค่อย ๆ พัฒนาคุณภาพของเบียร์ให้ดีขึ้น จนมาถึงจุดที่พวกพี่เขาเริ่มคิดกันว่าทำออกมาขายกันดีกว่า”
คุณกานต์กล่าวว่าการทำแบรนด์ของผู้ก่อตั้งทั้งสองไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะแค่เรื่องการตั้งชื่อแบรนด์ พวกเขาก็คิดแล้วคิดอีกกว่าจะมาลงตัวที่ชื่อ My BEER Friend “ถามว่าทําไม My Beer ถึง Friend ได้ ก็เพราะว่า My BEER Friend มีที่มาจากคําในภาษาอังกฤษว่า My Dear Friend คือพี่เขารู้สึกว่า เออ อยากให้เหมือนเวลาที่เราพูดถึงเพื่อน เพราะเอาจริง ๆ แล้วเบียร์ก็ถือเป็นเพื่อนของเรา เราอยากจะดื่มกับเพื่อน อะไรแบบนี้”
เมื่อมีชื่อแบรนด์ มีเบียร์ที่ทดลองผลิตจนมั่นใจว่าได้ในแบบที่ต้องการแล้ว สิ่งที่ทางผู้ก่อตั้งแบรนด์ต้องคิดต่อคือเรื่องการผลิต ซึ่งคุณกานต์อธิบายว่า การผลิตคราฟต์เบียร์ต้องใช้ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) หรือการผลิตและจัดจําหน่ายในพื้นที่ของร้านเอง โดยมีข้อกําหนดคือจะต้องมีกำลังการผลิตเบียร์ตั้งแต่ 100,000 ลิตรต่อปีขึ้นไป
คุณกานต์กล่าวต่อไปว่า ถ้าอยากจะผลิตเบียร์ให้ถูกต้องกฎหมาย วิธีการที่ผู้ผลิตนิยมทำกันคือการออกไปจ้างผลิตในต่างประเทศ ก่อนจะนำเข้ากลับมาขายในประเทศโดยเสียภาษีในฐานะเบียร์นําเข้า ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และราคาแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยกับเบียร์ต่างประเทศที่นำเข้ามาจำหน่าย ส่วนอีกวิธีก็คือการจ้าง Thai Spirit Industry ซึ่งเป็นโรงงานที่รับจ้างผลิตเบียร์ในไทยเป็นผู้ทำการผลิตให้
ขณะที่การผลิตเบียร์ของ My BEER Friend นั้น เริ่มจากการอยากนําวัตถุดิบในท้องถิ่นของเชียงใหม่มาใช้ อย่างการใช้ข้าวสาลีจากอำเภอพสะเมิงมาทำเบียร์ที่มีข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบ หรือน้ำผึ้งป่าจากอำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นต้น แต่ในช่วงแรกการผลิตยังทำไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากนัก ก่อนที่ต่อมาจะมีการพัฒนาเรื่องการผลิต โดยนำไปผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตัวสินค้าที่ได้ก็สร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากเป็นการส่งออกไปผลิตในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในระหว่างผลิตมากมาย การผลิตเบียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนในปัจจุบันใช้วิธีการผลิตที่จังหวัดชลบุรีและที่ประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบัน My BEER Friend มีคราฟต์เบียร์ที่ผลิตออกมาทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ Chiangmai Accent (Wheat Beer) I Think So (IPA) Northern Parade (ESB) โดย 3 ชนิดนี้ก็จะมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของเบียร์ ส่วน Haze Survivor (Pale Ale) มีที่มาจากวิกฤตหมอกควันในเชียงใหม่ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตเบียร์ที่อยากให้คนที่รอดจากปัญหาหมอกควันมาดื่มด้วยกัน และ Caffeine Dealer (Porter) เป็นเบียร์ดำที่มีคาแรคเตอร์ของกาแฟ เครื่องดื่มสุดฮิตของเชียงใหม่
เมื่อถามถึงบรรยากาศของของวงการคราฟต์เบียร์ในเชียงใหม่ คุณกานต์กล่าวว่าปัจจุบันอาจจะเหลือเพียงแค่ 4 – 5 ร้านที่ยังเปิดกิจการอยู่ ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับผู้ผลิตเบียร์ที่พยายามสร้างสรรค์เบียร์ของตัวเองให้มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ อย่างเช่น ‘ลมจอย Brewing’ ผู้ผลิตในเชียงใหม่ที่ได้รับรางวัลอันดับ 2 จากการประกวดการทำเบียร์ของ Group B Beer ซึ่งเป็นการประกวดที่จัดขึ้นภายในเชียงใหม่ที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่มีการกำหนดวัตถุดิบให้โดยที่ผู้ผลิตจะไม่ทราบมาก่อน ถือเป็นความท้าทายของผู้ผลิตในการสร้างสรรค์คราฟต์เบียร์รสชาติใหม่ ๆ ออกมา
ส่วน My BEER Friend นั้น เป้าหมายต่อไปของแบรนด์ ทางผู้ก่อตั้งอยากจะทำโรงเบียร์เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นความคิดที่คุณกานต์กล่าวว่าไม่ใกล้แต่ก็ไม่ไกลมาก แต่ที่แน่ ๆ คือยังไม่มีความคิดที่จะหยุด เพราะธุรกิจคราฟต์เบียร์ในปัจจุบันยังไปต่อได้ และการผลิตคราฟต์เบียร์ที่ถือเป็น ‘เบียร์จากเชียงใหม่’ ในการรับรู้ของผู้บริโภค ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนใน My BEER Friend รู้สึกภาคภูมิใจมาโดยตลอด
เราถามคุณกานต์ว่าอะไรคือเสน่ห์ของคราฟต์เบียร์ที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจและอยากทดลองดื่ม เขาตอบว่าคือรสชาติที่ไม่เหมือนใครและแปลกใหม่จากเบียร์ที่มีอยู่ในท้องตลาด เป็นการผลิตที่ผู้ผลิตแต่ละคนตั้งใจในการคิดค้นสูตรและส่วนผสมโดยเฉพาะ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าในคราฟต์เบียร์มีความใส่ใจในคุณค่าของเบียร์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
“ผมคิดว่าเสน่ห์ของคราฟต์เบียร์คือรสชาติของมันในแต่ละขวด ที่ร้านแต่ละร้าน ผู้ผลิตแต่ละคน ทำออกมาจากความรู้ความสามารถของตัวเอง แล้วก็บวกกับความชื่นชอบของแต่ละคน ทำให้เบียร์แต่ละตัวที่คราฟต์ออกมามันไม่เหมือนกันเลย”
คุณกานต์กล่าวทิ้งท้ายว่า คราฟต์เบียร์ในเชียงใหม่ยังคงมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา จากการช่วยเหลือ ผลักดันกันเองในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการนําวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ การคิดค้นสูตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายและรสชาติที่ดีออกมาให้ผู้บริโภค ซึ่ง My Beer Fried เองก็เป็นหนึ่งส่วนเล็ก ๆ ในชุมชนคราฟต์เบียร์ที่ช่วยกันผลักดันให้เครื่องดื่มชนิดนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากภาครัฐสามารถปรับปรุงแก้ไขข้อจำกัดทางด้านกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ทั้งไม่เอื้อและบางครั้งเป็นข้อจำกัดต่อผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเล็กได้ ด้วยศักยภาพและความสามารถของกลุ่มผู้ผลิต เขาเชื่อว่าในอนาคต คราฟต์เบียร์เชียงใหม่และคราฟต์เบียร์ไทยจะมีอนาคตที่สดใสกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน
หมายเหตุ :
บทความชิ้นนี้ผลิตขึ้นในปีการศึกษาที่ 1/2565
ปัจจุบันร้าน My BEER Friend Market ได้มีการรับปรุงร้านและเปิดให้บริการในชื่อ Here My Beer Friend และจำหน่ายผลิตภัณฑ์คราฟต์เบียร์ของ My BEER Friend รวมถึงคราฟต์เบียร์จากผู้ผลิตไทยรายอื่น ๆ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลของทางร้านได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ : My BEER Friend
เรื่อง : พิชญาภรณ์ ปินนะสุ, พงศกร กั้วกําจัด
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เสพสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะ Instagram Twitter หรือ TikTok จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้คนให้อิสระกับการแต่งตัวมากขึ้น ไม่ว่าใครจะมีรสนิยมหรือความชอบแบบไหน ก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สไตล์ของตัวเอง และแสดงออกออกมาได้อย่างสนุกสนานผ่านการแต่งตัว
หากพูดถึงธุรกิจงานฝีมือ คุณนึกถึงอะไร ? หลายคนอาจจะนึกถึงงานที่ต้องเย็บปักถักร้อย งานที่เกี่ยวข้องกับการสาน หรืองานประเภทไม้และโลหะ ซึ่งคนส่วนใหญ่คงรู้สึกว่าล้าสมัย ไม่ได้เป็นธุรกิจที่น่าดึงดูดอะไร
เมื่อพูดถึง ‘ผู้สูงอายุ’ ภาพในความคิดของหลาย ๆ คนคงนึกถึงคนที่เกษียณอายุจากการทำงาน หรือคุณตาคุณยายอยู่กับบ้านเลี้ยงหลาน ชีวิตของคนเหล่านี้ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวไปอย่างช้า ๆ และดูเหมือนจะห่างไกลจากความกระตือรือร้นหรือกระฉับกระเฉงที่จะทำสิ่งต่าง ๆ