‘ประเทศไทย’ ถูกระบุว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกในปี 2018 ตามการรายงานของ CS Global Wealth Report โดยประเทศไทยมีกลุ่มคนยากจนสูงสุดถึงร้อยละ 40 ของประเทศ และคนกลุ่มนี้มีทรัพย์สินรวมกันเพียงร้อยละ 1.9 จากทั้งหมด ซึ่งต่างจากกลุ่มคนรวยที่มีเพียงร้อยละ 1 ของประเทศ แต่กลับถือครองทรัพย์สินมากกว่าร้อยละ 58 ของทรัพย์สินทั้งหมด
ช่องว่างของการถือครองทรัพย์สินที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ ส่งผลกระทบระยะยาวไปสู่ความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ที่ปัจจุบันเห็นได้ชัดในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการที่โรงเรียนที่มีสังกัดเป็นของตัวเอง หรือมีเงินสนับสนุนนอกเหนือจากที่ได้รับจากกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้มีงบประมาณส่งเสริมทางการศึกษาได้ดีกว่าโรงเรียนที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ขณะที่เด็กที่ศึกษาในโรงเรียนในชนบทกลับประสบปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการขาดคลนอุปกรณ์ทางการศึกษา หรือการเข้าไม่ถึงแหล่งความรู้ทางการศึกษา
เมื่อรวมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในชนบทที่ส่วนหนึ่งไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งจากความยากจน หรือการขาดแคลนโอกาสทางการศึกษาด้วยแล้ว ทำให้การศึกษาซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความรู้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคม กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำนั้นขยายวงกว้างออกไปมากยิ่งกว่าเดิม
โรงเรียนเหมือนกัน แต่ไยแตกต่าง
“โรงเรียนในตัวเมืองกับโรงเรียนในชนบท มีการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน” เป็นคำกล่าวจาก ดร. อัษ แสนภักดี อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สภาพความเป็นอยู่เป็นเรื่องหนึ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญ ซึ่งเมื่อเราลองพิจารณาสภาพของโรงเรียนในชนบทหลาย ๆ แห่ง ก็ทำให้เกิดความสงสัยว่าการจัดการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะยังขาดความเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังสถานศึกษาซึ่งยากลำบาก รวมถึงระบบการศึกษาที่ไม่เป็นระบบ อาจารย์ที่ประจำอยู่ 1 ท่าน อาจจะต้องสอน 2-3 วิชา หรือต้องสอนหลาย ๆ ชั้นรวมกัน ด้วยเหตุที่จำนวนครูในโรงเรียนมีน้อย
หากมองกลับมาที่ฝั่งเมืองบ้าง สิ่งที่เห็นคือจำนวนอาจารย์ที่มีมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามความเหมาะสมกับจำนวนนักเรียนที่มีเป็นจำนวนมาก แต่อีกด้านก็เป็นเพราว่าหากเลือกได้ ก็คงไม่มีอาจารย์ท่านไหนอยากออกไปทำงานอยู่ห่างไกลความเจริญด้วย
แน่นอนว่าเมื่อโรงเรียนมีบรรยากาศที่เหมาะสม นักเรียนที่เข้ารับการศึกษาก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีตามมา เพราะเจอแต่ความเป็นอยู่ที่สะอาด และง่ายต่อการเข้าถึงการศึกษา ขณะที่นักเรียนในชนบท นอกจากจะมีสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้แล้ว ตัวโรงเรียนซึ่งควรจะมีส่วนช่วยให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ในสภาพที่ไม่อาจมอบการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงเรียนในเมืองได้เลย
สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
ดร. อัษกล่าวว่า ความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนในตัวเมืองกับโรงเรียนในชนบทส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนแน่นอน เพราะหลายคนมีปัญหาส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากครอบครัว หรือสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
และเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน ก็จะส่งผลให้พวกเขาเหล่านี้ขาดแคลนทักษะต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับจากการเรียน อาทิ ทักษะในการสงสัยใคร่รู้ เพราะเมื่อเทียบกับเด็กในตัวเมือง สภาพแวดล้อมสอนให้เด็กกลุ่มนี้ตั้งคำถามว่าสิ่งนี้ทำไมถึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร อีกทั้งยังมีครอบครอบครัวที่มีปัจจัยพร้อมสนับสนุนทางการศึกษา และมีสภาพความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อการศึกษามากกว่า
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การมีหน่วยงานหรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนนั้น ๆ คอยสนับสนุนทางโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขยายความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น โรงเรียนที่อยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็จะมีงบประมาณจาก อบจ.มาคอยสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้กับโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด
ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อยู่ในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางคณะศึกษาศาสตร์ และจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจะแตกต่างกับโรงเรียนในชนบท ที่จะได้รับเพียงแค่งบประมาณสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้งจำนวนเงินที่ได้ก็ไม่มากพอที่จะนำไปสร้างแหล่งความรู้ใหม่เพิ่มเติมให้กับนักเรียนในโรงเรียนได้
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรจัดการงบประมาณให้เหมาะสมต่อการสร้างแหล่งการเรียนรู้ภายในโรงเรียน เพราะการใช้วิธีแจกจ่ายงบประมาณตามจำนวนนักเรียน ทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อยอาจได้งบประมาณทางการศึกษาไม่มากพอที่จะสร้างแหล่งความรู้ใหม่ให้กับนักเรียน กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อเนื่องอย่างไม่มีวันจบสิ้น
เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือการศึกษาเข้าไม่ถึง ?
“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
ประโยคข้างต้นถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่ครอบครัวไม่มีกำลังจ่ายเงินค่าเทอม ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะออกกฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนสามารถเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลาสิบสองปี แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีคำว่าความเหลื่อมล้ำได้อยู่ดี เพราะหลายโรงเรียนยังมีการเรียกเก็บค่าบำรุงรักษาสถานศึกษา ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลและเป็นภาระต่อครอบครัวที่ยากจนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือเรียน และค่าใช้จ่ายประจำวันของบุตรหลาน ซึ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายภายในทั้งครอบครัวแล้ว ทำให้บางครอบครัวที่มีเงินน้อยไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะส่งบุตรหลานไปเรียน ทำให้นักเรียนบางคนสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย
ปัญหาความยากจนเช่นนี้มักพบได้ง่ายในชนบท เพราะยากต่อการช่วยเหลือ และให้ความรู้ว่าการศึกษานั้นมีความสำคัญเพียงใด ไม่ว่าจะอายุไหนก็ตาม การที่โรงเรียนในชนบทบางพื้นที่มีการเรียกเก็บค่าบำรุงสถานที่ กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน เพราะจะนอกจากจะต้องใช้จ่ายเงินที่มีอยู่น้อยนิดให้กับคนในครอบครัวแล้ว ก็ยังต้องมาแบ่งเงินบางส่วนให้กับโรงเรียน ทั้งที่โรงเรียนเองก็ไม่ได้มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมและการศึกษาของนักเรียนให้ดีกว่าเดิมเท่าที่ควร
ต่างจากโรงเรียนในตัวเมืองที่มีการจ่ายค่าบำรุงสถานศึกษา ที่มีการจ้างพนักงานทำความสะอาดมาดูแลรักษาโรงเรียน มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น แอร์ คอมพิวเตอร์ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแม้จะทำให้ค่าบำรุงสถานศึกษานั้นมากตามไปด้วย แต่ก็แลกมาด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษา และระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ภายใต้แผนการเรียนการสอนที่ทางโรงเรียนได้วางไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้นักเรียนได้รับความสะดวกในการเรียนมากที่สุด
ร่ำเรียนวิชา นำมาใช้ได้ไหม ?
ในอดีตนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การศึกษาของผู้ชายจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การศึกษาตำราการต่อสู้และการใช้อาวุธต่าง ๆ กับการศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์โหราศาสตร์ ส่วนผู้หญิงจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการทำงานบ้านและการวางตัวให้เหมาะสม ซึ่งการศึกษาในอดีตนั้นสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
เมื่อเทียบกับการศึกษาในปัจจุบัน ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เรามีวิชาความรู้มากมายหลายด้านให้ได้ศึกษา แต่ถึงจะมีเรื่องให้ศึกษามากขึ้นและหลากหลายขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่คนส่วนหนึ่งกลับเกิดความสงสัย ว่าความรู้ต่าง ๆ ที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษานำมาสอนนั้น สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้จริง ๆ หรือไม่ ?
ดังที่นักเรียนกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แสดงความคิดเห็นว่า “การศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง โรงเรียนเลือกที่จะสอนแต่ภาคทฤษฎีมากกว่าการสอนภาคปฏิบัติ รู้สึกว่าอยากให้มีวิชาที่เกี่ยวกับการใช้จริงในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นเรื่องของภาษีบ้าง เพราะเมื่อโตไปเราก็จะต้องพบเจอกับสิ่งเหล่านี้”
ในมุมมองของนักเรียนกลุ่มนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่การศึกษาไม่ได้สอน และพวกเขาอยากศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมในเ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อนำไปใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม นี่เป็นคำพูดของนักเรียนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ ‘น้องไหม’ นักเรียนสาวชาวกะเหรี่ยงจากบ้านแม่ป่าไผ่ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ บอกให้เราฟัง ว่าการศึกษาที่ได้เรียนรู้นั้นเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านได้
.
น้องไหมเป็นหนึ่งในนักเรียนแกนนำที่ผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เช่น การจัดแข่งขันแยกขยะพลาสติกเพื่อรับของรางวัล เป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในหมู่บ้าน “หนูได้เรียนมาว่าการแยกขยะมันช่วยในหลาย ๆ ส่วนได้ มันช่วยโลกได้ ก็เลยไปของบประมาณจากทางโบสถ์ในการจัดกิจกรรมขึ้นมา และก็พยายามชวนคนให้เข้ามาเข้าร่วมเรื่อย ๆ ค่ะ”
น้องไหมมองว่าหมู่บ้านแม่ป่าไผ่เป็นชุมชนเล็ก ๆ “หนูว่าหมู่บ้านหนูมันติดต่อกันได้ง่ายค่ะ คนในหมู่บ้านก็ไม่ได้เยอะอะไร” จึงเป็นเรื่องง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาให้กับชาวบ้าน และการที่เธอได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ได้จริง ก็ถือว่าเป็นการบรรลุผลสำเร็จของการศึกษาแล้ว
********************
เป้าหมายของการศึกษา คือการนำวิชาความรู้ที่มีอยู่มากมายมาถ่ายทอดให้กับนักเรียน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวนักเรียนแล้วว่าจะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในอนาคตอย่างไร
แต่หากมองไปที่ส่วนมากของนักเรียนในชนบท ถึงแม้จะมีความพยายามมากแค่ไหน ก็มักจะมีข้อจำกัดบางอย่างเข้ามาฉุดรั้งไว้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ทำให้ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ กำลังทรัพย์ที่มีไม่มากพอที่จะจ่ายค่าเทอม เงินสนับสนุนจากภาครัฐที่น้อยเกินไป แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือความเหลื่อมล้ำที่เด็กชนบทหลายคนได้ประสบพบเจอ จนบางครั้งทำให้ใครหลาย ๆ คนหมดไฟที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง
ต่างจากเด็กในตัวเมือง ที่มีโอกาสในการเลือกความฝันของตัวเองได้มากกว่า มีครอบครัวคอยสนับสนุนการศึกษา ไม่มีขีดจำกัดในการเรียนรู้ และที่สำคัญยังได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้เราเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างเด็กนักเรียนในชนบทกับเด็กนักเรียนในตัวเมือง
ดังนั้น การศึกษาที่เข้าถึงง่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน การเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของทางหน่วยงานภาครัฐสำหรับเด็กนักเรียนในทุกพื้นที่ ควรดำเนินการได้ง่ายและทั่วถึง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็กในชนบท นำไปสู่การเพิ่มประชากรที่มีความรู้ให้กับประเทศ และทำให้การศึกษาสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จริง ไม่ใช่สิ่งที่สร้างหรือขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มมากขึ้นอย่างที่เป็นอยู่
ข้อมูลอ้างอิง
เผยแพร่ครั้งแรก : Angkaew for Equality
เรื่อง : นรบดี แสนอินทร์, ชลธิญา จิตตาคำ
ภาพ : ศศิภา พงษ์ผา, สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
‘Green Market’ ถ้าแปลตรงตัวก็คือ ‘ตลาดสีเขียว’ เป็นตลาดแหล่งขายสินค้าที่มีการจัดการแบบช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะให้กับโลก และเลือกใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ที่สามารถปรับให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยโลกได้
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เสพสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะ Instagram Twitter หรือ TikTok จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้คนให้อิสระกับการแต่งตัวมากขึ้น ไม่ว่าใครจะมีรสนิยมหรือความชอบแบบไหน ก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สไตล์ของตัวเอง และแสดงออกออกมาได้อย่างสนุกสนานผ่านการแต่งตัว
สุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายคนเราก็มักจะเดินสวนทางกับขวบปีของชีวิต ยิ่งอายุมากขึ้น การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็เสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ จากอดีตที่เคยวิ่งไกลหลายกิโลเมตรก็แทบจะไม่รู้สึกอะไร แต่ปัจจุบันแค่ขึ้นบันไดสองชั้นก็อาจจะเหนื่อยหอบแล้ว