รู้หรือไม่ว่า การแข่งขัน ‘Formula 1’ หรือ ‘F1’ เป็นการแข่งขันรถยนต์สูตร 1 ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ.1950 ซึ่งขับเคี่ยวกันด้วยความเร็วกว่า 300 กม./ชม.ซึ่งทั้งนักแข่งและผู้ชมต่างโฟกัสไปที่ความเร็วของการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เป็นหลัก โดยอาจจะลืมไปว่า ในการแข่งขันรถยนต์นั้น สิ่งที่ตามมาคือการสิ้นเปลืองพลังงานและการปล่อยมลพิษทางอากาศปริมาณมหาศาล
ตามรายงานความยั่งยืนประจำปี 2019 ของ Formular 1 คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งหมด 256,551 ตัน แต่การปล่อยคาร์บอนฟุตปรินท์ทั้งหมดของการแข่งขันนั้นมีเพียงเล็กน้อยหรือน้อยกว่า 1% แต่คาร์บอนฟุตปรินท์ที่เกิดจากการเดินทางมีมากถึง 85%
อย่างไรก็ตาม หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งโลกจะอุ่นขึ้น โดยอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนั้นอาจทำให้น้ำแข็งละลาย ก่อให้เกิดไฟป่า ที่สำคัญ หากบริเวณใดที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เช่น ปวดศีรษะ หายใจลำบาก และเกิดอาการชักได้
ด้าน ‘สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA)’ หันมาให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยประกาศไว้ในปี 2019 ได้เริ่มพัฒนาแผนการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักคือเพื่อทดสอบพลังงงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลักดันให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรม F1 ใช้เชื้อเพลิงนี้ในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้เชื้อเพลิงนี้ได้อย่างยั่งยืน 100% ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติภายในปี 2025 และผลักดันให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030
ทั้งนี้ หากในปี 2026 สามารถใช้เชื้อเพลิงนี้ได้ยั่งยืน 100% โครงการดักจับคาร์บอนคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 85-96% เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล