นับเป็นต้นแบบของการพัฒนารถสองแถวไฟฟ้า (EV) ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นอกจากจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 แล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานน้ำมัน และลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการรถสองแถวได้อย่างยั่งยืน
นวัตกรรมลดโลกร้อนชิ้นนี้ เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในชื่อ “โครงการรถสองแถวไฟฟ้าดัดแปลง” ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ปี 2566-2567
ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา
“ทางกระทรวงพลังงานได้มอบหมายผ่านทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการในการดัดแปลงรถ ซึ่งการดัดแปลงนั้น เรามีเป้าหมายที่จะดัดแปลงรถ 2 คัน คือ รถขนส่งสาธารณะแบบชนิดสองแถว ที่วิ่งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 4,000 คัน โดยใน 4,000 คันก่อให้เกิดรายได้หรือ GDP ของเชียงใหม่ประมาณ 5 ร้อยล้านบาทต่อปี” ผศ.ดร.อนุชา กล่าว
“แต่หากสังเกตดี ๆ รถสองแถวรอบๆ เชียงใหม่ มักจะรถเก่า ส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 15-30 ปี เพราะฉะนั้น ถ้ามองว่าอยากจะลดทั้งโลกร้อน ควันดำ PM2.5 การเลือกรถสองแถวเพื่อดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้า ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ”
“เรามองว่ารถจะต้องใช้งานทุกวัน ๆ ละ 150 กม. ซึ่งเป็นตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าจะคุ้มทุนในแง่ของการดัดแปลง โดยสีที่เลือกคือสีเขียว วิ่งระหว่างตลาดวโรรส อำเภอเมืองเชียงใหม่กับอำเภอร่มหลวง และสีขาววิ่งระหว่างอำเภอเมืองเชียงใหม่กับอำเภอสันกำแพง”
ปัจจุบันรถสองแถวไฟฟ้าทั้ง 2 คัน เริ่มวิ่งให้บริการแล้วตั้งแต่ต้นปี 2567 ทั้งนี้ การดัดแปลงเป็นเทคโนโลยีรถไฟฟ้าสมัยใหม่นั้น ผศ.ดร.อนุชา อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “ความหมายของรถไฟฟ้าสมัยใหม่จะต้องมีกำลังเท่าเดิม มีความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งความเร็วตามปกติที่กฎหมายกำหนดคือ 90 กม.ต่อชั่วโมง วิ่งได้ไม่น้อยกว่า 30 นาที เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีที่นำไปใช้กับรถสองแถวไฟฟ้า คือเทคโนโลยีของรถ EV ที่ขายในตลาดทั่วไป
“แต่ถ้ามองในเชิงเทคนิคจริง ๆ จะดูที่โวลต์กับแรงม้า โวลต์ที่ใช้จะประมาณ 400 โวลต์ คือ โวลต์ของแบตเตอรี 400 โวลต์ ส่วนแรงม้าจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 60 - 100 กิโลวัตต์ เทียบเท่าประมาณ 130 แรงม้า โดยมีการติดตามทุกวันทั้งบันทึกในกระดาษและส่งข้อมูลขึ้นอินเตอร์เน็ต
ถามถึงผลตอบรับของผู้ประกอบการเจ้าของรถสองแถวไฟฟ้า ผศ.ดร.อนุชาตอบว่า “คนขับแฮปปี้มากเพราะก่อนหน้านั้น ค่าใช้จ่ายเดิมอยู่ที่ 12,000-15,000 บาท (ค่าน้ำมันดีเซล) แต่เดี๋ยวนี้ค่าไฟอยู่ที่ 3,000 บาท”
“เรามองไปถึงกลุ่มรถปิกอัพที่มีการดัดแปลงเหมือนเป็นรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถสองแถวหรือรถขนส่งตามโรงงาน พนักงานโรงงานหรือรถขนส่งสินค้าที่เป็นกลุ่ม Logistic ซึ่งมีเงื่อนไขการวิ่งอยู่ที่ 150-200 กม./วัน ควรจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นรถไฟฟ้า เพราะการดัดแปลงจะคุ้มค่า และให้ระยะเวลาคืนทุนที่ชัดเจน
“สำหรับตอนนี้เราพยายามสร้างโมเดลขึ้นมา ซึ่งชิ้นส่วนที่เราพัฒนาคือกล่องหัวใจ ที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้คือเอาไปดัดแปลงรถคันอื่นได้ คาดว่าอาจจะเป็นขั้นตอนต่อไปที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ของ มช. นอกจากนี้ ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ราคาลดลงมาเหลือครึ่งเดียว เพราะฉะนั้นต้นทุนในอนาคต คิดว่าโรงงานแบตเตอรี่ที่จะเกิดขึ้น เราจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ ซึ่งเราจะได้ใช้แบตเตอรี่ในราคาที่ถูกลง ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีแบตเตอรี่ที่นำมาใช้ดัดแปลงได้ด้วย และจะเป็นการลดต้นทุนของการดัดแปลงไปในตัว
“สำหรับคนที่สนใจเรื่องของการใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทนหรือว่าพลังงานใหม่โดยเฉพาะการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่ง อยากจะให้มองว่า การเลือกใช้พลังงานไฟฟ้ากับเครื่องจักรต่างๆ ในเมืองหรือในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย จะเป็นตัวช่วยลดมลพิษ ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นและเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น” ผศ.ดร.อนุชา ทิ้งท้าย
"เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" กลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ในปี 2024 เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน จึงหันมาสนับสนุนสินค้า และบริการที่สามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเลือกพักผ่อนในสถานที่รักษ์โลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คงไม่มีใครคาดคิดว่า ปีนี้เชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองจมบาดาลซ้ำๆ 2 ครั้ง 2 คราในเวลาไล่เลี่ยกันเพียงไม่ถึงเดือน คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วในอนาคตล่ะ ? เชียงใหม่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบนี้ทุกปีหรือไม่ และชาวเชียงใหม่จะต้องเตรียมรับมือกับอุทกภัยอย่างไรต่อไป ? ชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้กับภายฉายในอนาคตข้างหน้าของเชียงใหม่
หม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะเป็นผลงานการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. ที่คิดค้นหม้อแปลงที่สามารถคำนวณความต้องการใช้พลังงานของอาคาร และส่งข้อมูลไปยังแหล่งจ่ายไฟฟ้าเพื่อกำหนดปริมาณกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ